เสียงธรรม กิ เ ล ส แฝงมากับ ธ ร ร ม

ในห้อง 'วัฏสงสารและกฎแห่งกรรม' ตั้งกระทู้โดย J.Sayamol, 26 สิงหาคม 2011.

  1. J.Sayamol

    J.Sayamol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2008
    โพสต์:
    6,190
    ค่าพลัง:
    +21,530
    [​IMG]

    ทางเดินของเราตรงแน่วตามหลักธรรมอยู่แล้ว หรือตรงแน่วต่อธรรมอยู่แล้ว การประพฤติปฏิบัติก็จะเป็นไปตามนั้น เรื่องกิเลสนั้นน่ะมันเข้าทำลายธรรมได้ง่าย ธรรมของพวกเราไม่ใช่ธรรมแก่กล้า ไม่ใช่ธรรมพอที่จะต่อสู้กิเลสได้ตลอดไป ส่วนมากกิเลสเข้ามาเราไม่รู้ เราถือว่าเป็นธรรมเสีย หรือเข้าใจว่าถูกหรือเข้าใจว่าเป็นธรรมเสีย กว่าจะรู้ว่าเป็นกิเลส มันหมดทางต่อสู้แล้ว เขายำหัวหอมกระเทียมยื่นเข้ามาวางไว้ใกล้ ๆ แล้วถึงรู้ อ๋อ นี่เรามันขึ้นเขียงเมื่อไรนี่น่า มันสายไปแล้วนั่น ถึงขนาดที่เขาเอาหัวหอมหัวกระเทียมมาไว้ตรงหน้าแล้ว ก็แสดงว่านี่เขากำลังจะขยำเข้ากันแล้วนะ จะให้เป็นลาบเป็นอะไรก็ได้แล้ว เป็นผัดเป็นแกงเป็นอะไร มันก็พร้อมแล้วนี่ ก็ไม่ทราบจะทำยังไงมันสายเสียแล้ว

    กิเลสเป็นสิ่งละเอียดมาก แทรกมาในเรื่องที่เราเข้าใจว่าธรรมเสีย ด้วยเหตุนี้จึงได้พยายามเข้มงวดกวดขันกับหมู่เพื่อนเสมอ เพื่อไม่ให้เสียเล่ห์เหลี่ยมแห่งกิเลสที่จะแฝงมาในธรรมโดยไม่รู้สึกตัว ยกตัวอย่างเช่น เรากำลังประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยความสนอกสนใจ มีผู้มานิมนต์ไปในงานนั้น ไปในงานนี้ เบื้องต้นก็ไม่อยากไป เพราะเรื่องความมุ่งมั่นในธรรมยังมีกำลังมาก ความสนใจในธรรมกับการสนใจปฏิบัติ เพื่อความรู้จริงเห็นจริงในธรรมก็มีกำลังอยู่มาก นี่ถ้าโดนเข้าหลายครั้งหลายหน คำว่ากิเลสแฝงมาด้วยธรรมก็คือ เขามานิมนต์นี้ก็ไม่ผิดอะไรกับหลักธรรมหลักวินัย การไปสงเคราะห์โลกเขา เช่นไปฉันในบ้าน ในครั้งพุทธกาลก็มี ไม่ใช่จะมีแต่ปัจจุบันนี้ ในครั้งพุทธกาลก็มี ถ้าหากว่าจะแปลกต่างกันก็ด้วยอติเรกลาภ จะแปลกต่างกันอยู่บ้างก็ตรงนี้

    ทีนี้เวลาไปฉัน จะไม่มีเพียงอาหารที่ไปฉันในงานนั้นเท่านั้น จะมีอะไรติดมือมา เขาถวายสิ่งนั้นเขาถวายสิ่งนี้มา สำคัญก็คือเงิน ยิ่งทุกวันนี้เงินเฟ้อ แต่มันยิ่งสนุกทำลายจิตใจของพระได้ดี ถวายแต่ละงาน ๆ นี่เป็นร้อย ๆ ขึ้นไป ตาก็ลุกวาว ทีนี้ความสนใจชักจะเริ่มขึ้นแล้วที่นี่ เพราะกิเลสเข้าประชิด ความโลภเข้าแทรก ชักจะไปแล้วที่นี่ นี่ละที่ว่าเรื่องของกิเลสมันแทรกธรรมมาในนั้น คือการนิมนต์ก็เป็นธรรม การไปฉันบ้านเขาเพื่อสงเคราะห์เขาก็เป็นธรรม การถวายมาก็เป็นธรรมสำหรับเขา เรารับมาทีแรกก็ดูเป็นธรรม ครั้นต่อมาก็กลายเป็นเรื่องของกิเลสไปเรื่อย ๆ

    กิเลสเมื่อมันเข้าแทรกในความอยากแล้ว ความอยากก็กำเริบ ความโลภก็กำเริบขึ้นมา ทีนี้อะไร ๆ ที่เป็นบริษัทบริวารของความโลภนี้ มันก็กำเริบขึ้นมา แตกแขนงกันออกไปเรื่อย ๆ แตกไปหลายด้านหลายทาง ทำให้คิดกว้างขวางไปในทางที่จะทำลายตัวเอง มีมากขึ้น ๆ สุดท้ายก็ไม่ได้เรื่องอะไร นับแต่เงินแต่ทองไปเท่านั้นเองจะว่าไง อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เราจึงพยายามเสมอ แต่ไม่ค่อยได้พูดให้เพื่อนฝูงฟัง วันนี้ถึงได้พูดให้ฟัง

    เพราะความมุ่งมั่นของเราจริง ๆ ไม่ได้มาเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นผลที่จะพึงดีไปด้วย ในเมื่อเราห้ามหรือเราไม่รับการนิมนต์จากที่ไหน ๆ ที่เขามานิมนต์พระวัดป่าบ้านตาดไปฉัน เราไม่ยอมให้ หากจำเป็นจริง ๆ เราก็เห็นใจ เพราะโลกกับธรรมอยู่ด้วยกัน แต่ต้องคำว่าจำเป็น มีเหตุมีผลพร้อมแล้ว เอ้า จำเป็นต้องไป โลกกับธรรมแยกกันไม่ออก ถึงคราวที่จะสงเคราะห์ก็สงเคราะห์ แต่ว่าจะมายุ่งกันอยู่ตลอดเวลานี้ โลกเอารัดเอาเปรียบธรรมเกินไป เราก็จะเสียเปรียบกิเลสไปเรื่อย ๆ เราจึงไม่ยอมให้

    อย่าว่าตั้งแต่บรรดาพระในวัดนี้เลย แม้แต่มานิมนต์เราอย่างนี้เราก็ยังไม่ไป นี่เพื่อรักษาให้พระได้ประพฤติปฏิบัติด้วยความสะดวกสบาย ตามเจตนาที่มาจากทิศต่าง ๆ มาทั้งใกล้ทั้งไกล ไม่มีใครที่จะมุ่งมาหาเงินหาทองหาอติเรกลาภร่ำรวยอะไร มุ่งแต่อรรถแต่ธรรม ถ้าคิดก็คิดเรื่องอรรถเรื่องธรรม นับก็นับศีลนับธรรม ไม่ได้ไปหานับอติเรกลาภความร่ำรวย นับเรื่องเงินเรื่องทองซึ่งเป็นสิ่งสังหารพระเราโดยตรงเมื่อไม่รอบคอบ

    โลกเขานั้นมีความสง่างามผู้มีสมบัติเงินทอง แต่เฉพาะธรรมแล้วพระเรานี่มีมากเท่าไร ยิ่งเป็นการเสื่อมการทำลายตนเอง ทำลายจิตใจของตนลงไปโดยลำดับ ๆ จนหาความหมายไม่ได้ในตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ตัวเองนั้นหยิ่งว่ามีสมบัติมาก เพราะจิตมันเป็นโลกแล้วมันก็หยิ่งไปตามโลก แต่เรื่องธรรมไม่มีอะไรจะเหลือติดเลย นี่ละที่ว่ากิเลสมันแฝงธรรมมาจนกลายเป็นเนื้อเป็นหนังของมัน เช่นเดียวกับต้นไทรที่มันเกาะต้นไม้ต้นใดขึ้น เมื่อมันเกาะได้แล้วมันก็เอาอาหารของต้นไม้ต้นนั้นละกิน ดูดซึมเข้าไปในอวัยวะของมัน จนกระทั่งมันเติบโต ต้นไม้นั้นค่อยเหี่ยว ยุบยอบแล้วตายไป มันก็กอดรัดเอาเป็นอาหารเสียเรียบ มันตั้งตัวของมันได้เลย ต้นไม้ก็เป็นอาหารของมันไปทั้งสิ้น

    นี่กิเลสที่แฝงมาในธรรม ทีแรกมันก็เป็นเหมือนต้นไทรหรือเหมือนกาฝาก เมื่อเวลามันมีมากขึ้น ๆ เราสังเกตดูก็รู้ ต้นไม้ต้นไหนที่มีกาฝากมาก ๆ จะไม่มีเหลือเลยแหละ กิ่งนั้นกิ่งนี้ตายเข้ามา ๆ หดเข้ามา ๆ สุดท้ายก็ตายหมดทั้งต้นของมัน เพราะกาฝากกินหมด ดูดเอาเนื้อเอาหนังของต้นไม้นั้น ๆ ไปกินเสียหมด ตั้งเนื้อตั้งตัวขึ้นมา ใบก็เป็นใบของตัว ต้นก็เป็นต้นของตัว ดอกผลอะไรก็เป็นของตัว แต่อาศัยเนื้อหนังของต้นไม้อื่นไปเป็นอาหาร

    นี่ก็เหมือนกันกิเลสมันค่อยแทรกมา ๆ เป็นกาฝากเข้ามาภายในจิตแฝงมาในธรรมดังที่ว่านี้ เมื่อแฝงเข้ามามาก ๆ แล้วมันก็เป็นต้นไทรเป็นกาฝาก กอดรัดเข้าไป ๆ จิตใจเลยกลายเป็นโลกไปหมด เจตนาดั้งเดิมที่มุ่งมาเพื่ออรรถเพื่อธรรมซึ่งเห็นว่าเป็นของประเสริฐ เลยกลายเป็นของเลวไปเสียแล้วในความรู้สึกของผู้นั้น แล้วกลับเห็นสิ่งที่ธรรมทั้งหลายตำหนิว่าเป็นของดีขึ้นมามีค่าขึ้นมา ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ไม่มีทางเรื่องของพระ จะมีธรรมติดจิตติดใจนั้นเป็นไปได้ยากมาก ดีไม่ดีไม่มีเลย ให้พากันระมัดระวังให้ดี ด้วยเหตุผลอย่างนี้เอง ประการหนึ่งซึ่งเป็นผลพลอยได้จากหลักใหญ่ คือเพื่อสงเคราะห์หมู่เพื่อน ให้ได้รับความสะดวกสบายในการประพฤติปฏิบัติ สมกับว่าผมเป็นหัวหน้าหมู่เพื่อน รับหมู่เพื่อนไว้ด้วยเหตุด้วยผลจริง ๆ การแนะนำสั่งสอนหมู่เพื่อนก็สั่งสอนเต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มสติกำลังความสามารถโดยเหตุผลทุกประการ

    การรักษาหมู่เพื่อนในทางใดที่จะให้เป็นความสะดวกสบายไม่ให้ใครมารบกวน ก็เป็นเรื่องของผมจะรักษาหมู่เพื่อนเอง เช่น เขามาขอพระไปอยู่สำนักนั้นสำนักนี้ ผมไม่เคยสนใจเลย พระวัดนี้ท่านไม่ได้มุ่งจะไปหาตั้งสำนักที่นั่นสั่งสอนใครต่อใคร ท่านมุ่งมาเพื่อจะอบรมสั่งสอนตนเอง โดยอาศัยครูบาอาจารย์ให้โอวาทการแนะนำสั่งสอน ท่านยังไม่สนใจที่จะไปตั้งรากตั้งฐานสร้างวัดนั้นวัดนี้ขึ้น

    เราจึงไม่อาจที่จะแยกท่านไป สั่งให้ท่านไปในสถานที่ใด เพราะท่านมาตามอัธยาศัย มามุ่งอรรถมุ่งธรรม เราจะขับไล่ไสส่งให้ท่านไปอยู่ที่ไหน ๆ เป็นความขัดต่ออัธยาศัยซึ่งเป็นความผิดธรรม เราทำไม่ได้ เราก็พูดอย่างนี้เสีย แล้วเราไม่ไปแตะพระสงฆ์อยู่ในวัดนี้ พูดกับเขาให้เป็นที่เรียบร้อยไปเสียแล้วก็ไป มีเยอะนะที่เขามาขอพระจากวัดนี้

    มีมากมีน้อยเราบิณฑบาตมานั่นพอเป็นพอไปแล้ว สำหรับผู้มุ่งธรรมในใจแล้ว ย่อมไม่เห็นแก่ลิ้นแก่ปาก ลิ้นก็ดี ปากก็ดี ท้องก็ดี ไม่มีอำนาจเหนือธรรม ไม่แทรกแซงธรรมไปได้สำหรับผู้มุ่งธรรม ถ้าผู้มุ่งโลกมุ่งสงสารแล้วมีตั้งแต่เรื่องแทรกมีตั้งแต่เรื่องแซงธรรมทั้งนั้น เรื่องเหยียบย่ำทำลายธรรมทั้งนั้น นั้นคือผู้ฉิบหาย ผิดกันที่ตรงนี้ นี่เราไม่ใช่ผู้เช่นนั้น เพราะฉะนั้นอาหารการบริโภคมีมากมีน้อย จึงพอดีทั้งนั้น ดีหมด พอดีทั้งนั้น ไม่ว่าขาดเขิน ไม่ว่าบกพร่อง พอเป็นพอไปทั้งนั้น เพราะพอเยียวยาอัตภาพให้เป็นไปเพื่ออรรถเพื่อธรรม เพื่อการบำเพ็ญของเราจะได้รับความสะดวกสบาย เพียงเท่านี้เราสะดวกสบายแล้ว

    เอ้า ในวัดนี้มีอะไร ใครจะต้องการอะไรเอาได้เลย มีอะไรเลี้ยงกันหมดทั้งวัด เป็นเหมือนอวัยวะเดียวกัน เหมือนลูกพ่อแม่เดียวกัน เราต่างองค์ต่างเป็นศากยบุตรด้วยกัน ไม่ว่าจะชาติชั้นวรรณะใด เข้ามาสู่นี้เป็นลูกศิษย์ตถาคต เป็นคนขอทานประเภทเดียวกัน ๆ ไม่เห็นอกเห็นใจกันไม่รักกัน ใครจะรักกันได้ในโลกนี้ ถ้าลงพระหาความรักความสงสาร ความเห็นอกเห็นใจกันไม่ได้แล้ว โลกนี้จะไม่มีธรรมเหลืออยู่เลย ถ้าพระไม่สั่งสมธรรมเหล่านี้ให้เด่นขึ้นในตนสมกับความเป็นพระ ซึ่งออกมาจากลูกตถาคต ผู้ทรงพระเมตตาอย่างยอดเยี่ยมกับโลกทั้งหลาย

    ความเห็นอกเห็นใจกันก็คือพระนั่นเอง ความให้อภัยกันก็คือพระ ความไม่ถือกันก็คือพระ ความเมตตาสงสารกันก็คือพระ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นธรรมแล้วคือพระ ๆ ทั้งนั้น เราอยู่ด้วยกันแบบพระ ๆ นี้จะหาความยุ่งเหยิงวุ่นวายทะเลาะเบาะแว้งกันที่ไหน เพราะต่างคนก็มุ่งเจตนาอันเดียวกันด้วยความเป็นธรรม ธรรมต่อธรรมมีจำนวนมากเท่าไรบวกกันเข้าแล้ว ก็ยิ่งเป็นมหาสมบัติอันใหญ่โต เพราะนั้นก็ดี องค์นี้ก็ดี องค์ไหนก็ดี หนึ่งดีมาบวกหนึ่งดีเข้าก็เป็นสองดี บวกสามดีสี่ดีเข้า จำนวนมากขึ้น ๆ องค์นั้นก็ดีองค์นี้ก็ดี ทั้งวัดดีด้วยกันทั้งนั้น ก็มีแต่ของดีเต็มวัด

    สมมุติว่าตรงกันข้าม เอ้า องค์นี้ก็เลว หนึ่งแล้วนะ สองไปบวกเป็นคนเลวด้วยกันสองแล้ว สามเข้าไปสี่เข้าไป เลวต่อเลวมากต่อมาก ทั้งวัดมีแต่พระเลวเหลวไหลเลอะเทอะ แล้วเราจะหาผลหาประโยชน์ หวังผลหวังประโยชน์จากอะไร ถ้าหาของดีจากความเลอะเทอะเหล่านี้ได้แล้ว โลกนี้มันมีความเลอะเทอะมาตั้งแต่เมื่อไร มันต้องประเสริฐไปนานแล้ว แต่สิ่งสกปรกโสมมไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะทำโลกให้เจริญ ติดเปื้อนอยู่ในเสื้อผ้าของผู้ใด ก็ต้องได้ซักได้ล้างออก นี่เรื่องกิเลสความโสมม มันติดอยู่ในจิตในใจ ติดอยู่ในมารยาทกายวาจาของผู้ใด ต้องชำระสะสางออกโดยลำดับ ๆ จะนอนใจไม่ได้

    เพราะเราต้องการของดี เราไม่ต้องการของเลว ความอยู่ผาสุกของพระที่อยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก ชาติชั้นวรรณะใดไม่สำคัญ สำคัญที่ความเป็นพระ เป็นลูกศิษย์ตถาคตเป็นศากยบุตร มีความจงรักภักดีต่อกัน มีความเป็นธรรมเหมือนกัน มุ่งมั่นต่อธรรมด้วยกัน จิตใจเป็นธรรมด้วยกัน อยู่ด้วยกันได้ด้วยความผาสุก ไม่มีคิดแง่ใด ๆ ซึ่งเป็นเรื่องของโลกที่ถือกันสูง ๆ ต่ำ ๆ เอาเข้ามายุ่งในวงศาสนาศาสนธรรมไม่ได้ ศาสนธรรมเป็นสิ่งที่ให้ ความเสมอภาค นี่เป็นหลักสำคัญ ให้พากันตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้ดี อย่าลดละความเพียรเป็นของสำคัญ

    ไม่มีทรัพย์ใดประเสริฐยิ่งกว่าอริยทรัพย์ ซึ่งเรากำลังเสาะแสวงหาอยู่เวลานี้ ทรัพย์นี้แลคือทรัพย์ที่จะให้เกิดความปลื้มใจจริง ๆ ไม่มีความเดือดร้อนแฝงเข้ามา ไม่มีแบบว่ามีสันแล้วมีคมแฝงเข้ามาเหมือนอย่างมีด ถ้าเย็นได้น้อยก็เย็นได้น้อยตามกำลัง มีมากเย็นมากตามกำลัง มีเต็มที่ก็เย็นเต็มที่ได้แก่ธรรมด้วยกันหรืออริยทรัพย์ ทรัพย์อันนี้เป็นเครื่องประดับจิตใจ ส่งเสริมจิตใจของผู้ปฏิบัติธรรม จงพยายามชะล้างสิ่งที่สกปรกรกรุงรังอยู่ภายในจิตใจ ให้หมดไป ๆ ด้วยความพากเพียรของตน

    อย่าได้เห็นความพากเพียรว่าเป็นสิ่งไม่ควรทำ หรือว่าเป็นข้าศึกต่อตน เห็นความขี้เกียจอ่อนแอ เห็นตามกิเลสตัณหาอาสวะบงการในทางใดแล้วก็เห็นชอบในทางนั้นตาม นั้นไม่ใช่ทางของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ทางของธรรมที่ทรงแสดงไว้ เราผู้บวชมาในศาสนามุ่งอริยทรัพย์อย่างเดียว ให้ตั้งหน้าตั้งตาสั่งสมอริยทรัพย์ขึ้นภายในจิตใจของตน จะมีความสุขความเย็นใจ นี่คือทรัพย์ ทรัพย์อันประเสริฐแท้ก็คือใจนี่เอง ให้พยายามซักฟอกชะล้างออกโดยลำดับ ๆ อย่าลดละท้อถอย

    ใจจะเริ่มสงบแม้จะคึกคะนองยิ่งกว่าม้าตัวคะนองก็เถอะ ถ้าลงได้ฝึกได้ทรมานกันไม่หยุดไม่ถอยแล้ว มันต้องยอมจำนนวันหนึ่งจนได้ ไม่มีอันใดที่จะเหนือธรรม และไม่มีกิเลสประเภทใดจะเหนือธรรมไปได้ ผู้นำธรรมเข้ามาปราบกิเลสก็คือเรา ธรรมเป็นความถูกต้องดีงามอยู่แล้ว การปราบกิเลสด้วยธรรม ก็คือด้วยความพากเพียรของเรา อาศัยธรรมเป็นเครื่องมือมีศรัทธา วิริยะ หรือสติปัญญาเป็นสำคัญ หรืออิทธิบาท ๔ ฉันทะ ให้พอใจในความเพียรเพื่อหลุดพ้นจากทุกข์โดยลำดับ ๆ วิริยะเพียรไม่ถอย

    พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เพราะความเพียร เพราะฉันทะ เพราะจิตตะ ความฝักใฝ่รักชอบในความหลุดพ้น วิมังสาประเสริฐด้วยพระปัญญาปรีชาเฉลียวฉลาดสามารถ นี่อิทธิบาททั้ง ๔ เป็นเครื่องมือสำหรับแก้กิเลสด้วย เป็นเครื่องสนับสนุนด้วย อยู่ด้วยกัน วิริยะนี่เป็นเครื่องสนับสนุน คือเพียรพยายาม เพียรด้วยอะไร เพียรด้วย สติปัญญาฟาดกันลงไป แก้กิเลส ให้มีความรัก รักในความเพียร สนใจในความเพียร จิตมันจะคึกคะนองขนาดไหน ต้องหมอบราบลงวันหนึ่งจนได้ไม่สงสัย

    เพราะธรรมนี้เคยปราบกิเลสมานับไม่ถ้วนแล้ว ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้ามาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ธรรมเป็นเครื่องปราบกิเลสโดยถ่ายเดียวเท่านั้น ไม่มีธรรมที่จะส่งเสริมกิเลส แล้วในขณะเดียวกันกิเลสกับธรรมเป็นข้าศึกกันให้พึงทราบเสมอ เมื่ออาการใดแสดงขึ้นมาเป็นทางกิเลส ให้พึงทราบว่านั้นคือข้าศึกเกิดขึ้นในหัวใจเราแล้ว ให้รีบคว้าอาวุธคือธรรมเข้ามาต่อสู้กัน ไม่ว่าจะแสดงความโลภความโกรธความหลงก็ตาม แสดงราคะตัณหาขึ้นมาภายในใจก็ตาม สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นภัยที่จะมาทำลายจิตใจของเราผู้ประมาท ผู้ไม่มีสติโดยไม่สงสัย ส่วนมากผู้นั้นก็ฉิบหายไปได้จริง ๆ เพราะสิ่งทำลายเหล่านี้

    นี่เราไม่ได้มาทำลายตน เรามาเพื่อส่งเสริมตนเองด้วยความพากเพียร เพื่อให้จิตมีความสงบร่มเย็น สงบไม่ได้เอาให้ได้มันไปไหนวะ ทำไมพระพุทธเจ้าจึงสอนให้ทำใจให้สงบ ถ้าเป็นสิ่งที่สงบไม่ได้พระพุทธเจ้าไม่สอน ขนาดเป็นศาสดาเอกของโลกสอนผิดไปได้เหรอ เราไม่เชื่อพระพุทธเจ้าเราจะเชื่อใคร เราบวชมาเพื่อใครทุกวันนี้ ก็มีพุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ตั้งแต่ขณะบวช เราไม่เคยเปล่งถึงผู้ใดว่าจะล้ำเลิศประเสริฐยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์นี้เลย พอที่เราจะถือสิ่งเหล่านั้นมาเป็นสรณะ เมื่อ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ว่าเป็นสรณะของเราแล้ว ท่านสอนว่ายังไง ท่านเพียรยังไง เราต้องยึดอันนี้เป็นหลักใจด้วย ยึดท่านเป็นที่พึ่งเป็นพึ่งตาย ยึดธรรมเป็นแนวทางเดินด้วย ทั้งฝ่ายเหตุและฝ่ายผลที่จะพึงได้รับไม่ต้องสงสัย

    สงฺโฆ ท่านดำเนินยังไง พระสงฆ์สาวกท่านดำเนินยังไง เราเห็นแล้วในตำรับตำรา ท่านเขียนไว้ทำไม ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ผ่านพ้นไปหมดแล้ว ปรินิพพานไปกี่ร้อยกี่พันปีแล้ว ถ้าจะพูดถึงเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ เรื่องกาลสถานที่เวล่ำเวลา ผ่านไปนานแล้ว เราระลึกถึงท่านเพื่ออะไร ระลึกถึงท่านเพื่อเป็นหลักใจประการหนึ่ง เพื่อเป็นคติเครื่องเตือนใจสอนใจเรา ว่าท่านดำเนินอย่างไรด้วยท่านถึงได้เป็นผู้ประเสริฐ เราก็พยายามดำเนินตามแนวแถวของท่านที่สั่งสอน ก็เหมือนกับเดินตามหลังท่านไปโดยลำดับ ๆ ท่านถึงขณะนั้นเราก็ถึงขณะนี้ ท่านถึงวันนั้นเราก็ถึงวันนี้ เมื่อเดินอยู่ไม่หยุดไม่ถอย ไปถึงจุดหมายปลายทางแล้วก็จะไปไหน ก็ถึงที่สุดวิมุตติพระนิพพานเหมือนกัน

    นี่ละธรรมเคยปราบปรามกิเลสมาตั้งแต่ครั้งโน้น จนกระทั่งครั้งนี้ ไม่ปรากฏว่าธรรมบทใดล้าสมัยนอกจากคนผู้ปฏิบัติธรรม หรือผู้นับถือศาสนาหรือเราเท่านั้นเป็นผู้ล้าสมัย คือล้าต่อกิเลสนั่นเอง ไม่นำธรรมเข้ามาปราบปรามประหัตประหารกิเลสก็เป็นคนล้าสมัย ธรรมไม่ได้ล้าสมัย เหมือนมีดเล่มนี้หรือปืนกระบอกนี้ ยิง เอ้า ฟาดลงไป ช้างก็ตายอย่าว่าแต่คนเลย ถ้าจับขึ้นมายิง ถ้าไม่จับขึ้นมายิงช้างมาเหยียบหัวคนให้แหลกก็แหลกได้ ปืนก็ทิ้งอยู่นั้นแหละ สติปัญญาไม่นำมาใช้แล้วก็เป็นเหมือนปืนที่ทิ้งไว้นั้นแหละ เครื่องมือหรืออาวุธทิ้งไว้ ปล่อยให้กิเลสย่ำยีเสียจนแหลกแตกกระจายไม่มีเศษมีเหลือเป็นอรรถเป็นธรรมอยู่บ้างเลย คนทั้งคนมีตั้งแต่ขี้เต็มตัว ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง ขี้คร้านอ่อนแอ ขี้เต็มตัว หาธรรมจะแทรกลงไม่ได้ แล้ววิเศษที่ไหนคนทั้งคนเป็นเช่นนั้น

    เราต้องคิด นักปฏิบัติต้องเป็นนักคิดนักค้นคว้า ไม่ใช่นักนั่งอยู่เฉย ๆ หลับตาแล้วเหมือนคนตาย ตานี้หลับจริงแต่จิตไม่หลับ ถ้าจะพิจารณาให้เป็นความสงบก็มีสติจดจ่อต่อเนื่องกันเป็นลำดับลำดา ในหน้าที่การงานของตนที่ทำเพื่อความสงบ แล้วใจมันจะวิเศษวิโสกระโดดโลดเต้นเหนือธรรมไปไหน คำว่าใจนี่หมายถึงว่าใจที่มีกิเลสเป็นเครื่องผลักดันออกมา แล้วกิเลสตัวไหนจะเหนือธรรมคือสติ ความพยายามของเราด้วยสติไปไม่ได้ อยู่ สงบลงจนได้ นี่พูดถึงเรื่องความสงบ ให้เห็นเสียที

    จิตเราตั้งแต่วันเกิดมาที่เราไม่เคยภาวนานั้น ไม่เคยเห็นความสงบเลย คำที่ท่านว่าสมาธิ ๆ หรือสันติ ๆ คือความสงบ มันมีแต่ชื่อเราไม่ได้ตัวสงบมาเป็นสมบัติครองใจนี้เลย สมาธิก็ได้ยินแต่ชื่อของสมาธิ เต็มในตำรับตำรา ตัวของเรามันฟุ้งจนจะตาย ยิ่งกว่าลูกฟุตบอลที่กลิ้งโน้นกลิ้งนี้ ทิศเหนือทิศใต้ กลิ้งอยู่ตลอดเวลาหาความสงบสุขไม่ได้ ยิ่งกว่าลิงร้อยตัว เพราะไม่มีเครื่องหักห้ามไม่มีเครื่องบังคับ เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยเครื่องบังคับ ฟาดกันลงไปด้วยสติ ด้วยความพยายามของเรา ต้องเห็นความสงบแน่นอนวันหนึ่งโดยไม่ต้องสงสัย

    จากนั้นก็ปัญญา พอได้โอกาสที่จะพิจารณา ท่านว่า รูปํ อนิจฺจํ เวทนา สญฺญา วิญฺญาณํ อนิจฺจํ รูปํ ตลอดวิญฺญาณํ ทุกฺขํ อนตฺตา อยู่ที่ไหนนี่ ท่านทำไมท่านรู้ สิ่งเหล่านี้ท่านว่าเต็มไปด้วยไตรลักษณ์คืออะไร เราจะถือเอาอะไรเป็นสาระ ถืออะไรเป็นเราเป็นของเรา ทำไมจึงยึดถือ ทั้ง ๆ ที่เนื้อไม่ได้กินหนังไม่ได้นั่ง กระดูกแขวนคออยู่ตลอดเวลา กวนมากที่สุดก็คือขันธ์นี้เอง ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา กวนได้ทุกแง่ทุกมุมทุกเวล่ำเวลาก็คือขันธ์ ทำไมจึงไม่เห็นความกวนของมัน ไม่เห็นโทษแห่งความรบกวนของมัน ไปยึดถือมันทำไมสิ่งเหล่านี้

    กระดูกก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นกระดูก เอามาเป็นตนได้ยังไง หนังก็เหมือนหนังรองเท้า แต่หนังรองเท้าไม่ได้สกปรกเหมือนหนังคน เรายึดไว้เพื่ออะไร เล็บ หนัง ฟัน เนื้อ เอ็น กระดูก จนกระทั่งถึงอวัยวะส่วนภายในมีที่น่ายึดที่ตรงไหน มันมีตั้งแต่ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เต็มไปด้วยอสุภะอสุภังป่าช้าผีดิบ ป่าช้าผีสดก็อยู่ภายในท้องของเรานี่ ในตัวของเราอีกด้วย รวมหมดทั้งตัวเรา หมดทั้งในท้อง มีตั้งแต่เรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา มีแต่เรื่องอสุภะอสุภังเป็นป่าช้าผีดิบอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน เราทำไมไม่ดูป่าช้าเรา นี่คือปัญญาค้นลงไปให้เห็นซิ

    พระพุทธเจ้าทรงสอนอย่างนี้ แล้วก็ทรงรู้ด้วยวิธีอย่างนี้ด้วย จึงได้นำวิธีการที่ทรงบำเพ็ญถูกต้องแล้ว และผลที่ทรงได้รับแล้วมาสั่งสอนแก่บรรดาสัตวโลกให้ประพฤติปฏิบัติตาม นี่เราเป็นแนวหน้าเวลานี้ เราเป็นนักบวชเป็นนักรบ ไม่ใช่เป็นนักหลบ หลบนั้นหลีกนี้ เราไม่ใช่นักหลบอย่างนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เป็นนักหลบนักหลับ นั่งภาวนาคอยแต่จะหลับใช้ไม่ได้ เอาให้จริงให้จัง ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ

    ปัญญาจะเกิด ถ้าพาคิดแล้วปัญญาต้องเกิด ไม่พาคิดจนกระทั่งวันตายก็ไม่เกิด เอ้า จะสมาธิดีขนาดไหนก็ดีอยู่แค่นั้น เป็นสมาธิอยู่อย่างนั้นจะเป็นปัญญาขึ้นมาไม่ได้ ท่านสอนไว้ว่า สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส. สมาธิที่ศีลอบรมแล้วย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก คือเราคิดแต่เรื่องศีล ศีลเราก็ไม่ได้ด่างพร้อยทะลุที่ไหน ดีแล้วไม่เป็นกังวลไม่เป็นนิวรณ์กับศีลนั้น ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติจิตใจเพื่อความสงบได้ด้วยความสะดวกสบายหายกังวลกับเรื่องศีล เมื่อไม่มีความกังวลในเรื่องศีลว่าด่างพร้อยทะลุต่าง ๆ แล้ว เราก็หมดความกังวล ตั้งหน้าตั้งตาทำจิตให้เกิดความสงบ

    สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา. ปัญญาที่สมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มาก คือจิตเมื่อมีความสงบแล้วย่อมอิ่มตัว ย่อมสงบย่อมสบาย ไม่ส่ายแส่ไม่หิวโหยคว้าโน้นคว้านี้ คว้ารูป คว้าเสียง คว้ากลิ่น คว้ารส คว้าธรรมารมณ์ต่าง ๆ เข้ามายุ่งเหยิงวุ่นวายเผาผลาญจิตใจ จิตที่มีความสงบย่อมไม่คว้า นี้ละเมื่อจิตมีความสงบแล้วพาทำงานก็ได้การได้งาน พิจารณาอะไรก็เป็นอันนั้นขึ้นมา ไม่เถลไถล ไม่หิวไม่โหย แฉลบไปทางโน้นแฉลบไปทางนี้ เถลไถลไปทางโน้นทางนี้เหมือนจิตที่หิวโหยกระวนกระวายในอารมณ์

    ท่านจึงสอนให้มีสมาธิ ให้มีความสงบเย็นใจ แล้วพิจารณาทางด้านปัญญาก็เป็นปัญญาขึ้นมาโดยลำดับ ๆ เป็นปัญญาขึ้นมามากเท่าไร ถึงกาลที่จะพักสมาธิก็พักและเป็นการสร้างฐานสมาธิขึ้นมาเรื่อย ๆ สมาธิก็แน่นขึ้นโดยลำดับ ๆ ปัญญาก็เฉลียวฉลาดไปโดยลำดับ กว้างขวางไปโดยลำดับ เชี่ยวชาญไปโดยลำดับ สมาธิก็ไปพร้อม ๆ กัน ปัญญาไปพร้อม ๆ กัน นี่ สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปัญญาที่สมาธิอบรมแล้วย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มากท่านว่าอย่างนี้

    ท่านไม่ได้บอกว่าปัญญานั้นเกิดเพราะมีสมาธินะ ปัญญาเกิดเพราะความคิดค้นต่างหาก ไม่ใช่มีสมาธิแล้วปัญญาจะเกิด เหมือนกับเครื่องทำครัว หรือทัพสัมภาระที่จะมาปลูกบ้าน เมื่อขนทัพสัมภาระมาครบทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ควรแก่การสร้างบ้านหลังนี้ได้อย่างเต็มภูมิแล้ว เราทิ้งไว้เฉย ๆ มันก็เป็นไม้เป็นเหล็กเป็นปูนเป็นหินเป็นทรายอยู่งั้น มันไม่ได้เป็นบ้านให้ แต่เครื่องมือมันพร้อมแล้ว ถ้าเราไม่ทำเมื่อมีเครื่องมือพร้อมแล้ว มันจะเป็นบ้านขึ้นมาทีเดียวจะเป็นได้ยังไง ไม่เป็น
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • a5-4-22.wma
      ขนาดไฟล์:
      7.7 MB
      เปิดดู:
      1,731
  2. J.Sayamol

    J.Sayamol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2008
    โพสต์:
    6,190
    ค่าพลัง:
    +21,530
    [​IMG]

    นี่สมาธิก็เหมือนกัน จะสงบขนาดไหนมันก็เป็นสมาธิสงบอยู่งั้น เหมือนเอาไม้มากองไว้อย่างนั้น เหมือนเอาเครื่องทำครัวมากองไว้อย่างนั้น อันนั้นเป็นผัก อันนี้เป็นหญ้า อันนั้นเป็นหัวหอม อันนี้เป็นกระเทียม อันนั้นเป็นพริก อันนี้เป็นเนื้อ อันนั้นเป็นปลา มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้นแหละ แต่มันไม่เป็นแกง เพราะฉะนั้นจึงต้องเอามาผสมกัน เมื่อมันพร้อมแล้วเอามาผสมทำเป็นแกง มันก็เป็นแกงขึ้นมา ทำเป็นอาหารชนิดใดก็เป็นขึ้นมา เพราะเครื่องทำครัวพร้อมแล้ว

    นี่สมาธิก็ตะล่อมตัวเข้ามาแล้ว จิตตะล่อมตัวเข้ามา ปราศจากความหิวโหย พอมีทางที่จะพิจารณาทางด้านปัญญาแล้ว เอ้า ค้นลงไปพิจารณาลงไป เหมือนกับเราปรุงอาหารนั่นแล แล้วเกิดความรู้ชนิดนั้นขึ้นมาชนิดนี้ขึ้นมา แล้วกิเลสซึ่งไม่เคยขาดลอยออกไปจากจิตใจ เพราะอำนาจของสมาธิใด ๆ เลย ก็เห็นความขาดลอยออกไปจากอำนาจของปัญญาโดยลำดับ ๆ นั่นละทำให้จิตเพลิน จิตก็เพลินเรื่อย ๆ ถึงเวลาเหนื่อยเมื่อยล้าภายในจิตใจเพราะการทำงาน ได้แก่การคิดการพินิจพิจารณา อันนี้เป็นงานของจิตแล้วเราก็พักสมาธิเสีย ให้มีความสงบเย็น ไม่ต้องไปเป็นกังวลกับงานของเราที่เคยพิจารณาเคยทำนั้นในขณะที่พัก ปล่อยกังวลทั้งหมดไม่ไปยุ่งในขณะที่ทำสมาธิ เอ้า ลงในสมาธิอย่างเดียวไม่กังวลกับปัญญา

    พอออกจากสมาธิแล้วเวลาทำงานไม่ห่วงสมาธิ นี่ทำงานต่างวาระกัน ให้จริงทุกงาน งานสมาธิก็ให้จริงในขณะที่จะให้เป็นสมาธิความสงบ ทำให้จริงจังให้เป็นความสงบ เวลาจะออกพิจารณาทางด้านปัญญา เอ้าพิจารณาลงไป เรื่องธาตุขันธ์ตีให้แตกให้ละเอียดเหมือนเขาคราดนา มูลคราดมูลไถแหลกเป็นสำคัญ การคราดนั้นสัตว์พาหนะจะเร็วหรือช้าไม่สำคัญ สำคัญที่การคราดนั้นให้แหลกละเอียดควรแก่การปักดำเขาถึงหยุด นี่ก็ปัญญาพิจารณาลงไปให้ละเอียดลออ จนกระทั่งรู้แจ้งเห็นจริงในส่วนใดแล้วปล่อยวางไปโดยลำดับ ๆ เหมือนกับว่าการคราดนาพอเอาแล้วได้ที่แล้ว ปล่อย

    เอ้าพิจารณาซิ เรื่องอสุภะอสุภังมันเต็มอยู่ในตัวของเรา ราคะตัณหาเกิดขึ้นเพราะความสุภะคือความสวยความงาม มันสำคัญมั่นหมายเอาต่างหาก มันงามที่ไหน หลักธรรมชาติแท้ ๆ มันไม่ได้งาม เราเสกสรรเอานี่ กิเลสมันพาเสกเราก็เคลิ้มตามกิเลส คล้อยตามกิเลส หลงตามกิเลส แล้วก็อย่างว่านั่นแหละผลเป็นอย่างไร มันก็เป็นไฟขึ้นมาภายในจิตใจ ทีนี้แก้ลงไปให้ถึงฐานเดิมของมัน เริ่มตั้งแต่อสุภะอสุภัง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ลงไปจนสภาพเป็นธาตุ หลายครั้งหลายหนจนเป็นที่เข้าใจแล้วปล่อยวางได้ นี่เรียกปัญญา

    นี่ละ สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา. ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ. จิตที่ปัญญาอบรมแล้วย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ อะไรไปทำจิตให้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบถ้าไม่ใช่ปัญญา นี่หนุนกันไปเป็นลำดับ ๆ ตั้งแต่ สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส,สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา,ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ. นั่นหนุนกันไปโดยลำดับ ๆ พอถึง วิมุจฺจติ แล้วก็หมดจะว่าไง จิตเมื่อปัญญาได้อบรมแล้วย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ นั่นให้จำให้ดี นี้ละหลักความจริง หลักความถูกต้อง ทางดำเนินอยู่ตรงนี้ อย่าละอย่าปล่อยตรงนี้

    อย่าเห็นว่าสิ่งใดดีผู้ใดดีเหนือธรรมเหล่านี้ไป นี้ละธรรมของศาสดา พระศาสดาพระสาวกท่านเดินตรงนี้ ท่านรู้ตรงนี้เห็นตรงนี้ จึงสอนไว้อย่างนี้ ให้ยึดให้ดี อย่าเร่ ๆ ร่อน ๆ เถลไถล ใครว่าอะไรก็เชื่อไปหมด ๆ ดีไม่ดีไอ้ตาบอดหูหนวกมันมาบอกว่า เวลานี้มรรคผลนิพพานหมดแล้วว่าอย่างนั้น คนตาบอดมาพูดเชื่อง่าย ๆ คนตาดีสอนมันไม่เชื่อ มันถึงโดนเอา ๆ เราจะเชื่อคนตาบอดหรือเชื่อคนตาดี เราจะเชื่อคนโง่หรือเชื่อคนฉลาด จอมปราชญ์กับคนโง่มืดแปดทิศแปดด้าน อันไหนมันสำคัญกว่ากัน

    เราโง่เราต้องหาคนฉลาด แล้วใครเป็นจอมปราชญ์ พุทฺธํ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ คืออะไร นั่นท่านสอนไว้แล้ว ทางเดินไปสด ๆ ร้อน ๆ ก็คือเรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา ให้พากันพิจารณา เอาให้จริงให้จังอย่าลดละ ปัญญาพิจารณาให้ดี อย่าอยู่เฉย ๆ สมาธิคือความสงบใจ เมื่อสงบมาก ๆ มันขี้เกียจนะ เอะอะมีอะไรสัมผัส ๆ มันรู้สึกไม่สบาย เข้าสู่สมาธิเย็นเสีย เฉยไม่มีอะไรเข้าไปยุ่งกวน เลยอยู่นั่นเสีย นี่คือสมาธิขี้เกียจติดสมาธิแล้ว เป็นมิจฉาสมาธิไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่เป็นสมาธิที่ชอบ ความติดสมาธิมันเป็นความผิดนี่ ก็เลยกลายเป็นมิจฉาไปเสีย มิจฉาในความชอบของสมาธินั่นแหละ เจ้าของเป็นผู้ไปติดเลยเป็นมิจฉาไปโดยไม่รู้สึกตัว ส่วนมิจฉาสมาธิที่ผิดไปอีกแบบหนึ่งนั้นก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่นี้เราไม่ได้หมายถึงอย่างนั้น เราหมายถึงสมาธิที่ชอบนี้แหละ จนทำคนให้ติดแล้วไม่อยากพิจารณาสนใจในทางด้านปัญญาเลย นั่นคือติดสมาธิ การติดสมาธิเป็นความถูกต้องแล้วหรือ เป็นความผิด จึงเรียกว่ามิจฉาสมาธิก็ถูก

    พูดถึงเรื่องปัญญานี่กว้างขวางมาก ผมพูดเท่าที่จำเป็นให้ท่านผู้ฟังทั้งหลายได้พินิจพิจารณา เช่นอย่างพิจารณาธาตุขันธ์ร่างกายนี่ เป็นอสุภะอสุภัง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แล้วแต่ความถนัดของใจ ความดูดดื่มของใจในอาการใด ในไตรลักษณ์ใด หรือในอสุภะใด เพราะมีหลายชนิดนี่อยู่ในร่างกายของเรา แล้วรวมลงเป็นอสุภะอันเดียวกันนั้น แต่มันอาศัยพิจารณาส่วนใดเสียก่อน เช่นอย่างอสุภะเป็นต้นเหตุ แล้วมันถึงลุกลามเข้าไปอสุภะซึ่งเป็นส่วนรวม เราก็พิจารณาไป

    ออกจากนั้นก็แยกแยะให้แตกสลายทำลายลงไปด้วยปัญญา หลายครั้งหลายหนจนเป็นที่เข้าใจ เป็นที่แน่ใจ อิ่มตัว เมื่ออิ่มตัวแล้วความยึดมั่นถือมั่นในรูปขันธ์มันก็หมดไป ขอให้อิ่มเถอะ ขอให้รู้แจ้งเห็นชัดเถอะ มันจะปล่อยทันที เรื่องอุปาทานไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ปัญญาที่พิจารณาให้รู้แจ้งเห็นชัด เมื่อยังไม่เห็นชัดมันก็ยังไม่ปล่อย ดึงออกจนแขนขาดเฉย ๆ นั่นแหละ สมมุติว่าเราจะจับจะดึงจะลากด้วยแขน แขนขาดมือขาด อุปาทานก็ยังไม่ขาดจากความยึดมั่นถือมั่น แต่ถ้าปัญญาสอดเข้าไปแทรกเข้าไปฟันลงไปแล้ว ขาดพังทลายไปเลย

    เมื่อรู้แจ้งเห็นชัดเมื่อไรแล้วเป็นไม่อยู่อุปาทานพังลงไป รูปกายหมดความหมายแล้ว หมดภาระหน้าที่ที่จะต้องพิจารณาแล้ว จิตก็รู้เอง พอเหมือนกับเรารับประทานหรือเราฉันอาหารคาว จะเป็นอาหารคาวชนิดใด หรือว่ารวมว่าเป็นอาหารคาวพอแล้ว เมื่อพอแล้วธาตุขันธ์ไม่รับแล้ว หยุด ทีนี้มันสัมผัสอะไร สัมผัสหวาน เอ้า หวานมารับ ทีนี้เมื่อรับหวานแล้วพอแล้วมันก็ปล่อย นี่เมื่อพิจารณารูปธรรมคือร่างกายพอแล้วด้วยปัญญา จิตใจก็ถอนตัวออกมา พอแล้วกับการพิจารณา

    จากนั้นก็ก้าวไปสู่นามธรรม คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จะเป็นขันธ์ใดก็ตามในนามขันธ์ทั้ง ๔ นี้ มีความสัมผัสสัมพันธ์ มีความดูดดื่มในขันธ์ใด ตามขันธ์นั้นเข้าไปพิจารณาเข้าไป เรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แล้วจะกระจายไปหมดทั้ง ๔ ขันธ์ รวมยอดแล้วก็หมด ปล่อยวางไปเหมือนกัน จนกระทั่งเข้าถึงจิตตัวเป็นอวิชชาแท้ เป็นรังแห่งวัฏฏะ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ จนกระทั่งถึงสมุทโย โหติ มันไปจากไหน ไปจากนี้ ค้นลงไปเป็นปัจยาการแล้วที่นี่ พอเข้าถึงนั้นแล้ว เป็นปัจยาการแล้ว คือความสืบต่อกันโดยลำดับ มันไปจากตัวนี้

    ทีนี้ตัดสะพานลงไปหมดแล้ว เหลือแต่ความรู้กับอวิชชาที่กลมกลืนกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว นี่เป็นหน้าที่ของปัญญาขั้นละเอียด ที่จะสอดแทรกลงไปพิจารณาลงไป โดยทางไตรลักษณ์เหมือนกัน ไตรลักษณ์ส่วนหยาบ รูปขันธ์ก็มีไตรลักษณ์ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็มีไตรลักษณ์ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ตัวจิตอวิชชาก็มีไตรลักษณ์ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เหมือนกัน แต่เป็นไตรลักษณ์ขั้นละเอียดลงไปตามขั้นตามภูมิของกิเลสของธรรม เมื่อพิจารณาลงไปถึงจุดอันสำคัญแล้วด้วยปัญญา กิเลสที่ว่าเป็นสิ่งละเอียดสุดยอดได้แก่อวิชชา ก็สลายตัวไปด้วยอำนาจของปัญญาที่ละเอียดแหลมคม อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา สมบูรณ์ในจุดนั้นกิเลสก็พัง

    อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ, สงฺขารนิโรธา วิญฺญาณนิโรโธ, แล้วก็โน่นละ เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส ,นิโรโธ โหติ.เมื่ออวิชชาดับอันนั้นดับ ๆ ไปหมด เหมือนกับว่าเมื่อถอนรากแก้วขึ้นมาแล้ว กิ่งก็ดับ ใบก็ดับ รากแก้วรากฝอยดับไปหมด พูดง่าย ๆ ว่าอย่างนั้น ไม้ต้นนั้นพอถอนรากแก้วพรวดขึ้นมาเท่านั้นแหละ กิ่งก็ตาย ใบก็ตาย ดอกก็ตาย ผลก็ตาย กระพี้แก่นอะไรตาย ๆ ๆ ไปด้วยกันหมด หมดทั้งต้นตายหมดไม่มีเหลือ นั่นเมื่อพูดเรื่องอวิชชารวมยอดเป็นอย่างนี้ อันนี้ก็เหมือนกัน พออันนี้ดับเท่านั้นก็ อวิชฺชายเตฺวว ดับทันที แล้วจะพิจารณาอะไรอีกที่นี่

    นี่ภาคปฏิบัติเมื่อถึงขั้นนี้แล้วก็หมดความสามารถ เราพูดตามนิสัยของเรา เราหมดความสามารถเราไม่มีทางพิจารณา แล้วเราก็ไม่สนใจที่จะพิจารณาอะไรต่อไปอีก ขอให้รู้เถอะ คำว่า สนฺทิฏฺฐิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ จะไม่มีปัญหาอะไรกับผู้ปฏิบัติด้วยเหตุด้วยผลตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง จะไม่พ้นจากธรรมอันนี้ จะรู้จนได้ พระพุทธเจ้านิพพานเป็นเวลานานเท่าไร ๆ ไม่สำคัญ นั้นเป็นกาลเป็นสถานที่เวล่ำเวลา มันสำคัญอยู่ที่สัจธรรม พิจารณาให้รอบสัจธรรม

    สัจธรรมมีอยู่ในสถานที่ใด นั้นแหละมัชฌิมาอยู่ตรงนั้น สัจธรรมคืออะไร ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคไม่ใช่มัชฌิมาจะเป็นอะไร ก็อยู่ที่ตรงนั้นด้วยนี่ นั่นแหละเป็นกุญแจดอกสำคัญหรือเป็นดาบอันคมกล้าที่สุด ก็คือมัชฌิมาปฏิปทา ปราบทุกข์สมุทัยให้เรียบวุธ นิโรธความดับทุกข์เป็นผลมาจากมรรคทำลายกิเลส ซึ่งเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ลงไป ทุกข์ก็ดับไปเอง ๆ ดับไปทีละเล็กละน้อย ดับไป คำว่านิโรธไม่ใช่ว่าจะดับพรึบเดียวนะ ค่อยดับไปโดยลำดับตามกำลังของมรรคที่ฆ่ากิเลสไปได้โดยลำดับ ๆ จนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย ปัญญาถอนอวิชชาพรวดขึ้นมาทีเดียวแล้ว นิโรธก็ทำหน้าที่เต็ม ดับทุกข์พรวดพร้อมกันเลย ท่านให้กิริยาว่านี้คือนิโรธความดับทุกข์

    แล้วเวลาดับทุกข์แล้วไปไหนที่นี่ กิริยาแห่งการดับทุกข์ ดับแล้วก็หายไปเท่านั้นเอง เมื่อทุกข์ดับแล้วคำว่านิโรธก็หายไป สิ่งที่ไม่หายคืออะไร ผู้ที่รู้ว่าทุกข์ดับไป สมุทัยดับไป นิโรธทำหน้าที่ดับทุกข์ไป มรรคคือผู้แก้กิเลสตัณหาอาสวะ ได้แก่ปัญญาเป็นต้น นี่เรียกว่าสัจธรรมดับไปในวาระเดียว แล้วสิ่งที่นอกจากสัจธรรมคืออะไร ผู้ที่รู้ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทำงานกันเต็มภูมิแล้วดับไป เพราะเป็นกิริยาหรือเป็นสมมุติด้วยกัน

    เหมือนเครื่องมือ เหมือนศาสตราอาวุธนี่ เมื่อข้าศึกราบหมดแล้วอาวุธก็ปล่อย เพราะเป็นสมมุติด้วยกัน แล้วที่นอกจากสมมุตินั้นคืออะไร หรือเราว่านิพพานอยู่ที่สัจธรรมทั้งสี่นี่เหรอ สัจธรรมทั้งสี่นี่เป็นบันไดเป็นทางเดิน เมื่อก้าวออกจากนี้ ผ่านออกจากสัจธรรมทั้งสี่นี้ ผู้ใดเป็นผู้ผ่านนั่นผู้นั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ ทุกข์ก็ดับไป สมุทัยดับไป นิโรธดับไป มรรคก็ดับไป ปัญญาเป็นสิ่งที่เกิดดับ เป็นสมมุติดับไป ผู้ที่รู้ว่าสิ่งทั้งสี่นี้ดับไปคืออะไร นี่ละคือผู้บริสุทธิ์ เอาตรงนี้ แล้วเราจะไปหาที่ไหนอีกที่นี่ หามรรคผลนิพพานหาที่ไหน

    เอาให้เห็นจริงจังซี ธรรมของพระพุทธเจ้า ศาสนาของพระพุทธเจ้าไม่ใช่เป็นตุ๊กตาเครื่องเล่นของเด็ก พอจะมาหลอกให้ทำความดีนะ คอยไปเอาสวรรค์โน้น คอยไปเอานิพพานโน้นนะ ชาติหน้าโน่นนะ นิพพานอยู่ในตัวนี้อย่าสนใจมันเลย มันไม่มีหรอกอยู่ในหัวใจนี่ นั่นคือกิเลสมันหลอก เอาให้มันจริงจังซี จะพ้นไปไหน ฟัง ๆ ซิว่ามัชฌิมาปฏิปทา เป็นธรรมที่เหมาะสมอยู่ตลอดกาลสถานที่ คือทุกเวล่ำเวลากับการปราบกิเลสทุกประเภท ปราบได้หมดด้วยอำนาจแห่งมัชฌิมาปฏิปทานี้ทั้งนั้น

    กิเลสมันผาดโผนขนาดไหน เอามัชฌิมาอย่างผาดโผนมาฟาดกันให้แหลกไป นั่นเครื่องมือก็มีหลายเครื่องมือสำหรับปราบกิเลส กิเลสชนิดที่โหดร้ายทารุณที่สุด ก็เอาเครื่องมือชนิดที่มีกำลังกล้าสามารถที่สุดปราบกิเลสประเภทนั้นให้แหลกลงไป เรียกว่ามัชฌิมาเหมาะสมกันกับกิเลสประเภทนี้ โดยลำดับ ๆ ไป

    เมื่อกิเลสเข้าขั้นกลางปัญญาก็เป็นไปเอง เรื่องปัญญานั่นก็เป็นไปเองที่เหมาะสมกับการปราบกิเลสประเภทใด กิเลสขั้นละเอียดปัญญาขั้นละเอียดเหมือนน้ำซับน้ำซึม ไหลรินอยู่ทั้งหน้าแล้งหน้าฝน หน้าแล้งหน้าฝนก็เป็นอย่างนั้นนี่ สติปัญญาประเภทนี้ก็ไหลรินอยู่เหมือนกัน แทรกกันไปแทรกกันมา พิจารณาสอดแทรกกันไป ๆ เข้าใจกันไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งทะลุปรุโปร่งไปหมดไม่มีสิ่งใดเหลือ กิเลสเรียบวุธ

    คำว่ามหาสติมหาปัญญา ก็หมดปัญหาที่จะพูดกันอีก ท่านปล่อยไว้ตามเป็นจริงทั้งนั้น เพราะเหล่านี้เป็นสมมุติ มหาสติมหาปัญญาเป็นวิมุตติเมื่อไร เป็นสมมุติ เป็นเครื่องมืออันทันสมัย ที่จะฆ่าอวิชชาได้ก็คือมหาสติมหาปัญญานี้ เมื่ออวิชชาที่เป็นจอมวัฏจักรสิ้นอำนาจวาสนาทลายลงไปแล้ว เครื่องมือประเภทที่ทันสมัยนี้ จะเรียกว่า ปรมาณูหรือนิวเคลียร์ก็แล้วแต่สมัยทุกวันนี้ ก็หมดปัญหากันไปเอง ปล่อยทุกอย่าง ทุกข์ก็ปล่อย สมุทัยก็วาง นิโรธก็ปล่อย มรรคก็ปล่อย ปล่อยโดยตลอดทั่วถึง จิตก็ไม่ยึดมั่นในความบริสุทธิ์ของตน ถึงจุดสุดท้ายแล้วเรียกว่าเสร็จงาน ไม่ต้องมาแก้กิเลสตัวใดอีกแล้วจนกระทั่งถึงวันตาย ไม่มีกังวลที่จะแก้กิเลสและไม่เป็นกังวลกับเรื่องอดีตอนาคต กับภพกับชาติ ว่าจะเกิดในภพใดชาติใด สถานที่ใด นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน สวรรค์ชั้นพรหมที่ไหนไม่คิด หมดปัญหา ปัจจุบันก็รู้เท่าเป็นความบริสุทธิ์อยู่อย่างแท้จริง นี่ผลของการปฏิบัติ เอาให้จริงให้จัง
     
  3. Phen@m

    Phen@m สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 ธันวาคม 2010
    โพสต์:
    70
    ค่าพลัง:
    +11
    อนุโมทนา สาธุ
     
  4. พยัคฆ์ร้าย

    พยัคฆ์ร้าย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 พฤศจิกายน 2010
    โพสต์:
    1,411
    ค่าพลัง:
    +161
    อนุโมทนาสาธุครับ
     
  5. พยัคฆ์ร้าย

    พยัคฆ์ร้าย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 พฤศจิกายน 2010
    โพสต์:
    1,411
    ค่าพลัง:
    +161
    อนุโมทนาสาธุครับ
     
  6. กัณฑกะ

    กัณฑกะ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    595
    ค่าพลัง:
    +1,427
  7. chaiyo19

    chaiyo19 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 มกราคม 2011
    โพสต์:
    148
    ค่าพลัง:
    +959
    ขออนุโมทนาบุญ ด้วยครับ สาธุ สาธุ สาธุ
     
  8. ศักยิ์กมล

    ศักยิ์กมล เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 พฤศจิกายน 2007
    โพสต์:
    824
    ค่าพลัง:
    +1,316
    ขอกราบโมทนาครับ สาธุ สาะ สาธุ
     
  9. chatsiri

    chatsiri เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    88
    ค่าพลัง:
    +195
    ช่ายยยยยยยย.....อนุโมทนาสาาาาาธุคร้าบบบบบบบบบบบบบ...หลวงตาสุดยอดดดด...ดับและเย็นจิง ๆ เอาตอนท้ายนี่ละ
     
  10. ชอบธรรมต

    ชอบธรรมต สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 มกราคม 2011
    โพสต์:
    90
    ค่าพลัง:
    +1
    อนุโมทนาสาธุครับ
     
  11. พยัคฆ์ร้าย

    พยัคฆ์ร้าย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 พฤศจิกายน 2010
    โพสต์:
    1,411
    ค่าพลัง:
    +161
    อนุโมทนาสาธุครับ
     
  12. Zintellar

    Zintellar เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 พฤษภาคม 2011
    โพสต์:
    423
    ค่าพลัง:
    +143
    อนุโมทนา ครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...