คณาจารย์เรื่องเวทย์โดย จิเจรุนิ ตอนสมเด็จโตมหาปราชญ์แห่งรัตนโกสินทร์ ตอน ปฐมบท

ในห้อง 'สมเด็จโต พรหมรังสี' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 11 เมษายน 2015.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    คณาจารย์เรื่องเวทย์โดย จิเจรุนิ ตอนสมเด็จโตมหาปราชญ์แห่งรัตนโกสินทร์ ชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหฺมรงฺสี)
    จากบันทึกของ
    มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหนันทน์)

    ตอนที่ ๑ ปฐมเหตุ

    ความนำ
    [​IMG]
    คำปรารภและอนุมานสันนิษฐานว่าประวัติเรื่องความเป็นไปของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ครั้งในรัชกาลที่ ๔ กรุงเทพฯ นั้น มีความเป็นมาประการใด เพราะเจ้าพระคุณองค์นี้ เป็นที่ฤๅชาปรากฏ เกียรติศักดิ์เกียรติคุณเกียรติยศ ขจรขจายไปหลายทิศหลายแคว มหาชนพากันสรรเสริญออกเซ็งแซร่กึกก้องสาธุการ บางคนก็บ่นร่ำรำพรรณ ประสานขานประกาศกรุ่นกล่าวถึงบุญคุณสมบัติ จริยสมบัติของท่านเป็นนิตยกาลนานมา ทุกทิวาราตรีมิรู้มีความจืดจาง

    อนึ่ง พระพุทธรูปของท่านที่สร้างไว้ในวัดเกตุไชโย ใหญ่ก็ใหญ่ โตก็โต วัดหน้าตักกว้างถึงแปดวาเศษนิ้ว เป็นพระก่อที่สูงลิ่ว เป็นพระนั่งที่ศักดิ์สิทธิ์ ดูรุ่งเรืองกระเดื่องฤทธิ์มหิศรเดชานุภาพ พระองค์นี้เป็นที่ทราบทั่วกันตลอดประเทศแล้วว่า เป็นพระที่มีคุณพิเศษสามารถอาจจะดลบันดาลดับระงับทุกข์ภัยไข้ป่วยช่วยป้องกันอันตรายได้ จึงดลอกดลใจให้ประชาชนคนเป็นอันมาก หากมาอภิวิวันทนาการ สักการบูชาพลีกรรม บรรณาการเส้นสรวงบวงบล บางคนมาเผดียงเสี่ยงสัตย์อธิษฐาน ก็อาจสำเร็จสมปณิธานที่มุ่งมาตร์ปรารถนา จึงเป็นเหตุให้มีสวะนะเจตนาแก่มหาชนจำนวนมากว่าร้อยคน คิดใคร่รู้ประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังโฆษิตาราม บ้างก็คืบเที่ยวสืบถามความเป็นไปแต่หลังๆ แต่คราครั้งดั้งเดิมเริ่มแรก ต้นสกุลวงศ์เทือกเถาเหล่ากอ พงษ์พันธุ์ พวกพ้อง พื้นภูมิฐาน บ้านช่อง ข้องแขว แควจังหวัด เป็นบัญญัติของสมเด็จนั้นเป็นประการใด

    นานมาแล้วจะถามใครๆ ไม่ได้ความ หามีใครตอบตรงคำถามให้ถ่องแท้ จึงได้พากันตรงแร่เข้ามาหา นายพร้อม สุดดีพงศ์ อ้อนวอนให้รีบลงมากรุงเทพฯ ให้ช่วยเข้าสู่เสพย์ษมาคม ถามเงื่อนเค้าเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จึงนายพร้อม สุดดีพงศ์ ตลาดไชโย เมืองอ่างทอง จึงได้รีบล่องลงมาสู่หา ท่านพระมหาสว่าง วัดสระเกษ นมัสการแล้วยกเหตุขึ้นไต่ถาม ตามเนื้อความที่ชนหมู่มากอยากจะรู้ จะดูจะฟังเรื่องราวแต่คราวครั้งต้นเดิมวงษ์สกุล ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นั้นเป็นฉันใด ขอพระคุณได้สำแดงให้แจ้งด้วย

    ที่นั้นมหาสว่าง ฟังนายพร้อมเผดียงถาม จึงพากันข้ามฟากไปวัดระฆัง ขึ้นยังกุฏิเจ้าคุณพระธรรมถาวร (ช้าง) อันเป็นผู้เฒ่าสูงอายุศม์ ๘๘ ปี ในบัดนี้ยังมีองค์อยู่ ทั้งเป็นผู้ใกล้ชิด ทั้งเป็นศิษย์ทันรู้เห็น ทั้งเคยเป็นพระครูถานาของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง เคยอยู่ตั้งแต่เล็กๆ เมื่อเป็นเด็กเป็นชั้นเหลน

    นายพร้อมจึงประเคนสักการะ ถวายเจ้าคุณพระธรรมถาวรแล้วจึงได้ไถ่ถามตามเนื้อความที่ประสงค์

    ฝ่ายเจ้าคุณพระธรรมถาวร ท่านจึงได้อนุสรณ์คำนึงนึกไปถึงเรื่องความ แต่หนหลัง ท่านได้นั่งเล่าให้ฟังหลายสิบเรื่อง ล้วนแต่เป็นเรื่องที่น่าควรคิดพิศวงมาก ลงท้ายท่านบอกว่า อันญาติวงศ์พงษ์พันธ์ ภูมิฐานบ้านเดิมนั้น เจ้าของท่านได้ให้ช่างเขียนเขียนไว้ที่ผนังโบสถ์วัดอินทรวิหาร บ้านบางขุนพรหม พระนคร ล้วนแต่เป็นเค้าเงื่อนตามที่สมเด็จเจ้าโตได้ผ่านพบทั้งนั้น ท่านเจ้าของบอกใบ้สำคัญด้วยกิริยาของรูปภาพ ขอจงไปทราบเอาที่โบสถ์วัดอินทรวิหารนั้นเถิด

    ครั้น ม.ล. พระมหาสว่าง เสนีวงศ์ กับนายพร้อม สุดดีพงศ์ ฟังพระธรรมถาวรบอกเล่าและแนะนำจำจดมาทุกประการแล้วจึงนมัสการลาเจ้าคุณพระธรรมถาวรกลับข้ามฟากจากวัดระฆัง รุ่งขึ้นวันที่ ๑๖ กรกฎาคา พ.ศ. ๒๔๗๓ จึงขึ้นไปหารท่านพระครูสังฆรักษ์เจ้าอธิการ วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม แล้วขออนุญาตดูภาพเรื่องราวของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตามคำแนะนำของเจ้าคุณพระธรรมถาวรวัดระฆังบอกให้ดูทุกประการ

    ส่วนท่านพระครูสังฆรักษ์ เจ้าอธิการก็มีความเต็มใจ ท่านนำพาลงไปในโบสถ์พร้อมกันแล้ว เปิดหน้าต่างประตูให้ดูได้ตามปรารถนา

    นายพร้อมจึงดูรูปภาพ ช่วยกันพินิจพิจารณา ตั้งแต่ฉากที่ ๑ จนถึงฉากที่ ๑๒ นายพร้อมออกจะเต็มตรอง เห็นว่ายากลำบากที่จะขบปัญหาในภาพต่างๆ ให้เห็นความกระจ่างแจ่มแจ้งได้ นายพร้อมชักจะงันงอท้อน้ำใจไม่ใคร่จะจดลงทำยืนงงเป็นงันงันไป

    ม.ล.พระมหาสว่าง รู้ในอัธยาศัยของนายพร้อมว่าแปลรูปภาพไม่ออก บอกเป็นเนื้อความเล่าแก่ใครไม่ได้ นายพร้อมอึดอัดตันใจสุดคาดคะเนทำท่าจะรวนเรสละละการจดจำ ม.ล.พระมหาสว่างจึงแนะนำให้นายพร้อมอุตสาห์จดทำเอาไปทั้งหมดทุกตัวภาพ ไม่เป็นไร คงจะได้ทราบสิ้นทุกอย่าง คงไม่เหลวคว้างเหลือปัญญานัก ฉันจะช่วยดุ่มเดาดักให้เด่นเด็ดจงได้ ฉันจะคิดค้นรัชสมัยและพระบรมราชประวัติและราชพงศาวดาร เทียบนิยาย นิทานตำนานต่างๆ ตามที่ผู้เฒ่าผู้แก่บอกเล่าสืบกันมา เรื่องนี้คงสมมาตร์ปรารถนาอย่าวิตก ฉันจะเรียบเรียงและสาธกยกเหตุผลให้เป็นเบื้องต้นและเบื้องปลายให้สมความมุ่งหมายใคร่รู้ ในเรื่องประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์

    แต่ข้อสำคัญเกรงว่าจะช้ากินเวลาหลายสิบวัน เปรียบเช่นกับช่างไม้ทำช่อฟ้า จำต้องนานเวลาเปลืองหน้าไม้ ช่างต้องบั่นทอนผ่อนไปจนถึงแงงอนกนก ของที่ต้องการเปรียบเทียบเท่าที่ตำนานของสมเด็จนี้ กว่าจะเรียงความถูกตามที่ร่างข้อต่อตัดถ้อยคำที่เขินขัด ก็ต้องขุดคัดตัดทอนทิ้ง หรือความขาดไม่พาดพิงพูดไม่ถูกแท้ ก็ตกแต้มแถมแก้แปลให้สอดคล้องต้องกับความจริง สืบหาสิ่งที่เป็นหลักมาพักพิงไม่ให้ผิด สืบผสมให้กรมติดเป็นเนื้อเดียว ไม่พลำพลาด ถึงจะเปลืองกระดาษเปลืองเวลา ฉันไม่ว่าไม่เสียดาย หมายจะเสาะค้นขวนขวายหาเรื่องมาประกอบให้ จะได้สมคิดติดใจมหาชน จะได้ทราบเรื่องเบื้องตนและเบื้องปลาย โดยประวัติปริยายทุกประการ

    นายพร้อม สุดดีพงศ์ ได้ฟังคำบริหารอาษาของ ม.ล. พระมหาสว่างรับแข็งแรง จึงเข้มขมัดจัดแจงจดเพียรเขียนคัดบอกเป็นตัวหนังสือมาพร้อม ทุกด้านภาพในฝาผนังทั้ง ๑๒ ฉาก แล้วก็ละพากันกลับมายังวัดสระเกษ ต่อแต่วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ศกนี้มา พระมหาสว่างก็ตั้งหน้าตรวจตราเสาะสืบหาและไต่ถาม ได้เนื้อความนำจดลงคนพงศาวดาร รัชกาลราชประวัติบั่นทอนตัดให้รัดกุม ไม่เดาสุ่มมีเหตุพอความไม่ต่อใช้วิจารณ์ เป็นพยานอ้างตัวเองไปตามเพลงของเรื่องราวที่สืบสาวเรียงเขียนลงเอาที่ตรงต่อประโยชน์ ไม่อุโฆษป่าวร้องใคร ไม่หมิ่นให้ธรเณนทร์ โดยความเห็นจึงกล้าเล่า ดังจะกล่าวให้ฟังดังนี้

    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านให้ช่างเขียน เขียนเรื่องของท่านไว้ในฝาผนังโบสถ์วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม ดังนี้ เขียนเมืองกำแพงเพชรเป็นเมืองว่างว่างไม่มีคน มีแต่ขุนนางขี่ม้าออก เขียนวัดบางลำพูบนผนังติดกับเมืองกำแพงเพชร เขียนบางขุนพรหม เขียนรูปเด็กอ่อนนอนหงายแบเบาะอยู่มุมโบสถ์วัดบางลำพู เขียนรูปนางงุดกกลูก เขียนรูปตาผลว่าพระผล เขียนรูปอาจารย์แก้ววัดบางลำพูกำลังกวาดลานวัด เขียนรูปนายทอง นางเพ็ชร นั่งยองยอง ยกมือทั้งสองไหว้พระอาจารย์แก้ว เขียนรูปพระอาจารย์แก้วกำลังพูดกับตาผลบนกุฏิ เขียนรูปเรือเหนือจอดที่ท่าบางขุนพรหม จึงต้องขอโอกาสแก่ท่านผู้อ่านผู้ฟัง ด้วยข้าพเจ้าตรวจดูภาพทราบได้ตามพิจารณาและคาดคะเนสันนิษฐาน แปลจากรูปภาพบนนั้นคงได้ใจความตามเหตุผลต้นปลายของสมเด็จพระพุฒาจารย์ )โต) วัดระฆัง ดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

    แต่ครั้งเดิมเริ่มแรก ต้นวงศ์สกุลของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) องค์นี้ ตั้ง คฤหสถานภูมิสำเนา สืบวงศ์พงศ์เผ่าพืชพันธุ์พวกพ้อง เป็นพี่เป็นน้องต่อแนวเนื่องกันมาแต่ครั้งบุราณนานมา ณ แถบแถวที่ใกล้ใต้เมืองกำแพงเพชร เป็นชนชาวกำแพงเพชรมาช้านาน ครั้นถึงปีระกา สัปตศก จุลศักราช ๑๑๒๗ ปี (พ.ศ. ๒๓๐๒) จึงพระเจ้าแผ่นดินอังวะภุกามประเทศ ยกพลพยุหประเวสน์สู่พระราชอาณาเขตร์ประเทศยามนี้กองทัพพม่ามาราวี ตีหัวเมืองเอกโทตรีจัตวา ไล่รุกเข้ามาทุกทิศทุกทาง ทั้งบกทั้งเรือทั้งปากใต้ฝ่ายเมืองเหนือและทางตะวันตก เว้นไว้แต่ทิศตะวันออก หัวเมืองชั้นนอก ชั้นกลาง ชั้นโท ต่อรบต้านทานพม่าไม่ไหว ก็ต้องล่าร้างหลบหนี้ ซ่อนเร้นเอาตัวรอด ราษฎรก็พากันทอดทิ้งภูมิสถานบ้านเรือน เหลี่ยมลี้หนีหายพลัดพรากกระจายไป คนละทิศคนละทางห่างห่างวันกัน ในปีระกาศกนั้นจำเพาะพระยาตาก (สิน) เจ้าเมืองกำแพงเพชรกี้หาได้อยู่ดูแลรักษาเมืองไม่ มีราชการเข้าไปรับสัญญาบัตร เลื่อนที่เป็นพระยาวชิรปราการ แล้วยังมิได้กลับมา พอทราบข่าวศึกพม่า เสนาบดีให้รอรับพม่าอยู่ในกรุงนั้น ครั้นทัพหน้าพม่ารุกเข้ามาถึงกรุง พระยาวชิรปราการก็ต้องกุมพลรบพุ่ง ต้านทานรบรับทัพพม่า พม่าเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยานั้นไว้ กองทัพพม่ามาล้อมกรุงเก่าคราวนั้นเกือบสามปี

    ครั้นถึงปีกุนนพศก จุลศักราช ๑๒๒๙ (พ.ศ. ๒๓๑๐) ถึง ณ วันอังคารเดือนห้า แรมเก้าค่ำ เวลาบ่าย ๓ โมงเย็น พม่าจึงนำปืนใหญ่เข้าระดมยิงพระมหานคร พระมหานครก็แตก เสียแก่พม่าในวันอังคาร เดือนห้า ขึ้นเก้าค่ำ ปีกุนศกนั้น

    ฝ่ายพระยาวชิรปราการเจ้าเมืองกำแพงเพชร ได้ถือพล ๕๐๐๐ ช่วยป้องกันพระมหานคร ครั้นเห็นว่าชาตากรุงขาด ไม่สามารถจะต่อสู้พม่าได้ ก็พาพล ๕๐๐๐ นั้น ฝ่าฟันหนีออกไปทางทิศตะวันออก ข้ามไปทางพเนียดคล้องช้าง เดินทางไปเข้าเขตเมืองนครนายก แล้วข้ามฟากไปแย่งเอาเมืองจันทบุรี ตีได้แล้วก็เข้าตั้งมั่นบำรุงพลพาหนะละเลียงเสบียงอาหาร สรรพศาสตราวุธยุทธภัณฑ์ไว้พร้อมมูลบริบูรณ์เรียบร้อยแล้ว ก็ตั้งตัวเป็นเจ้า ชาวเมืองเรียกว่าพระเจ้าตาก ตั้งอยู่เมืองจันทบุรีก๊กหนึ่งในคราวนั้น

    ครั้นถึงปีชวด สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๓๐ ปี (พ.ศ. ๒๓๑๑) พระเจ้าตาก (สิน) ได้ยกพลโยธิแสนยากรเป็นกองทัพ เข้าบุกบั่นรบทัพพม่าตั้งแต่เมืองปาใต้ฝ่ายตะวันตกวกเข้าตีกองทัพพม่ามาถึงกรุงเก่า กองทัพพม่าสู้มิได้ก็แตกฉานล่าถอยขึ้นไปทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ แล้วก็เข้าชิงเอากรุงเก่าคืนจากเงื้อมมือพม่าข้าศึกได้แล้ว ลอยขบวนลงมาตั้งราชธานีที่เมืองธนบุรี ตำบลที่วัดมะกอกนอก เหนือคลองบางกอกใหญ่ ใต้คลองคูวัดระฆังโฆษิตาราม ทรงขนานนามเมืองว่ากรุงธนบุรี พระนามาภิธัยว่า พระเจ้ากรุงธนบุรี แต่ปีชวดศกนั้นมา

    จึงหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ออกไปตั้งคฤหสถานบ้านเรือนครอบครองทรัพย์สมบัติอยู่ ณ บ้านอัมพวา แขวงเมืองสมุทรสงคราม ได้เข้ามาพร้อมด้วยเอกะและน้องแลบุตรทั้ง ๔ เข้ามารับราชการในพระเจ้ากรุงธนบุรีๆ ได้ตั้งให้หลวงยกกระบัตรเป็นที่พระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา ถือศักดินา ๑๖ๆๆ ไร่ จึงตั้งคฤหสถานบ้านเรือนอยู่เหนือพระราชวังหลวง ใต้วัดบางหว้าใหญ่ (คือวัดระฆังในบัดนี้) ในปีชวดศกนั้นเอง พระเจ้ากรุงธนบุรี พระราชทานเกียรติยศเป็นแม่ทัพถืออาญาสิทธิ์ ยกทัพขึ้นไปปราบเจ้าพิมายมีชัยชำนะกลับลงมา ทรงพระกรุณาเลื่อนขึ้นเป็นที่พระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางกรมพระตำรวจซ้าย ทรงศักดินา ๓๐๐๐ ไร่ ครั้นถึงปีขาลโทศก ๑๑๓๒ ปี (พ.ศ.๒๓๑๓) พระเจ้ากรุงธนบุรีรับสั่งให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ ถืออาญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพยกกองทัพไปปราบเจ้าพระฝาง เมืองสวางคบุรี ตีกองทัพเจ้าพระฝางแตก จับตัวเจ้าพระฝางได้ พร้อมทั้งช้างพังเผือกกับลูกดำ จับตัวพรรคพวกและช้างลงมาถวาย ส่วนพระยาอภัยรณฤทธิ์รั้งหลังเพื่อจัดการบ้านเมืองฝ่ายเหนือป่าวร้องให้อาณาประชาราษฎรที่แตกฉานซ่านเซ็น ให้รวมเข้ามาเป็นหมวดหมู่ตั้งอยู่ดังเก่า ตามภูมิลำเนาเดิมของตน ที่ขัดขวางยากจนก็แจกจ่ายให้ปันพอเป็นกำลังสำหรับตั้งตัวต่อไปภายหน้า เมื่อขณะนี้เองชาวเมืองเหนือจึงได้พากันนิยมสวามิภักดีต่อท่านพระยาอภัยรณฤทธิ์ รักใคร่สนิทแต่คราวนั้นเป็นต้นเป็นเดิมมา เมื่อกองทัพกลับแล้ว พวกราษฎรเมืองเหนือบางครัว จึงได้พากันมาอยู่ในกรุงเก่าบ้าง เมืองอ่างทองบ้าง เมืองปทุมบ้าง เมืองนนทบุรีบ้าง เมืองพระประแดงบ้าง ในกรุงธนบุรีบ้าง ในบางขุนพรหมบ้าง ต่างจับจองจำนองที่ดินซื้อหา ตามกำลังและวาสนาของตนๆ เป็นต้นเหตุ ที่มีผู้คนคับขันขึ้นทั้งในกรุงและหัวเมืองแน่นหนาขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นลำดับมา

    ส่วนพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงเลื่อนที่ให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ขึ้นเป็นพระยายมราชเสนาบดีที่จตุสดมภ์ กรมพระนครบาล ทรงศักดินา ๑๐๐๐๐ ไร่ พรรษายุกาลได้ ๓๔ ปี ในปลายปีขาลศกนั้นเอง พระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนที่เจ้าพระยายมราชขึ้นเป็นเจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายก อรรคมหาเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย ทรงศักดินา ๑๐๐๐๐ ไร่

    ครั้นถึงปีเถาะตรีศก จุลศักราช ๑๑๓๓ ปี (พ.ศ. ๒๓๑๔) พระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งโปรดเกล้าให้เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพถืออาชญาสิทธิ์ต่างพระองค์ ยกกองทัพใหญ่ออกไปปราบปรามเมืองเขมรกัมพูชาประเทศก็มีชัยชนะเรียบร้อยกลับมา ได้รับพระราชทานรางวัลพิเศษ

    ครั้นถึงปีมะเมีย ฉศก จุลศักราช ๑๑๓๖ ปี (พ.ศ. ๒๓๑๗) มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพถืออาญาสิทธิ์ ยกกองทัพใหญ่ขึ้นไปล้อมเมืองเชียงใหม่ที่พม่ารักษาอยู่นั้น พม่าซึ่งรักษาเมืองเชียงใหม่ ได้ความอดอยากยากแค้นเข้า ก็พากันละทิ้งเมืองเชียงใหม่เสียแล้วหนีไปสิ้น ก็ได้เมืองเชียงใหม่โดยสะดวกง่ายดาย ในปลายปีมะเมีย ฉศกนั้นเอง อะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพพม่าอายุ ๗๒ ปี เป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ในพระเจ้ามังระกรุงอังวะ ครั้งนั้นพระเจ้าอังวะมีพระโองการรับสั่งให้อะแซหวุ่นกี้ถืออาญาสิทธิ์ยกทัพใหญ่ เดินกองทัพเข้ามาถึงด่านเมืองตาก แล้วให้พม่าล่ามถามนายด่านว่า พระยาเสืออยู่รักษาเมืองหรือไม่ นายด่านตอบว่าพระยาเสือไม่อยู่ยังไม่กลับ

    อะแซหวุ่นกี้จึงหยุดกองทัพหน้าไว้นอกด่าน แล้วประกาศว่าให้เจ้าเมืองเขากลับมารักษาเมืองเสียก่อน จึงจะยกเข้าตีด่าน เลยเข้าตีเมืองพิษณุโลกทีเดียว (เขียนตามพงศาวดารพม่า)

    สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงทราบข่าวข้าศึก จึงกรีฑาทัพหลวงขึ้นไปรักษาเมืองพระพิษณุโลกไว้ แล้วให้หากองทัพกลับจากเมืองเชียงใหม่ ครั้นเจ้าพระยาสุรสีห์ทราบว่ากองทัพมาอยู่ปลายด่านเมืองตาก และทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกรีฑาทัพหลวงขึ้นมาประทับอยู่เพื่อป้องกันรักษาเมืองพิษณุโลกด้วย จึงรีบยกกองทัพกลับ ครั้นถึงเมืองพิษณุโลกแล้วเข้าเฝ้าถวายบังคม เจ้าพระยาจักรีอยู่จัดการเมืองเชียงใหม่เรียบร้อยแล้ว ได้เลยตั้งข้าหลวงไปพูดจาปลอบโยนชี้แจงแนะนำเจ้าเมืองแพร่ เจ้าเมืองน่าน เจ้าเมืองลำปาง เจ้าเมืองลำพูน เป็นต้นเหล่านี้ ยอมสวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ ขอพึ่งพระบารมีโพธิสมภารเป็นข้าขอบขัณฑสีมาสืบไปตลอดกาลนาน เจ้าพระยาจักรีจึงได้เลิกทัพพาเจ้าลาวและพระยาลาวทั้งปวง ลงมาถึงเมืองพิษณุโลก เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลพร้อมกัน ณ เมืองพิษณุโลกนั้น

    สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระโสมนัสนัก จึงพระราชทานฐานันดรศักดิ์จ้าวลาว พระยาลาวทั้งปวงนั้น ให้กลับขึ้นไปรักษาเมืองดังเก่า แล้วจึงพระราชทานรางวัลเป็นอันมากแก่เจ้าพระยาสุรสีห์นั้นได้ออกไปรักษาด่านหน้าเมืองตากโดยแข็งแรงกวดขันมั่นคงทุกประการ

    ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพใหญ่พม่า ทราบว่าเจ้าพระยาเสือกลับมาแล้ว ออกมารักษาด่านอยู่ จึงสั่งให้มังเรยางู แม่ทัพพม่าเข้าตีด่าน ฝ่ายทหารรักษาด่านต้านทานทหารพม่าไม่ไหวก็ร่นเข้ามา กองทัพพม่าก็ตีรุกเข้าไปแล้วตั้งค่ายมั่นลงภายในด่านถึง ๓๐ ค่าย

    ฝ่ายเจ้าพระยาจีกรีทราบว่า กองทัพเจ้าพระยาสุรสีห์เสียด่านร่นเข้ามา จึงกราบบังคมทูลรับอาสาช่วยเจ้าพระยาสุรสีห์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระโองการรับสั่งว่า "ข้าก็อยากเห็นความคิดสติปัญญาของเจ้าและฝีมือของเจ้าว่าจะเข้มแข็งสักเพียงใด ข้าจะขอดูด้วย จงรีบออกไปช่วยสุรสีห์เถิด"

    เจ้าพระยาจักรีกราบถวายบังคมลา ออกมาจัดขบวนทัพพร้อมสรรพ์ แล้วยกออกไปถึงค่ายเจ้าพระยาสุรสีห์ แล้วจึงเจรจาว่า "เจ้าถึงแม้ว่าจะเป็นขุนนางผู้ใหญ่ก็จริงอยู่ แต่เจ้าเป็นขุนนางบ้านนอก อะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่านั้น เขาเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่อยู่ในเมืองหลวงพม่า ทั้งเขากอรปด้วยความคิด สติปัญญาเยี่ยมยิ่งอยู่ ความรู้ก็พอตัว พี่จะรบเอง" ต่อแต่นั้นมา เจ้าพระยาจักรีก็จัดทัพออกรุกรับรบพุ่งกับกองทัพอะแซหวุ่นกี้เป็นหลายครั้ง ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ล่วงวันและเวลาช้านานมา จนถึงเดือนห้าเดือนหก ปีมะแม สัปตศก จุลศักราช ๑๑๓๗ ปี (พ.ศ. ๒๓๑๘) เป็นปีที่ ๘ ในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี

    ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่า ก็คิดขยาดระอิดระอา ทั้งทางเมืองพม่าก็ชักจะวุ่นวายขึ้น ทั้งเสบียงอาหารก็บกพร่องจวนเจียนไม่พอจ่าย จึงคิดเพทุบายถามว่า "ใครผู้ใดออกมาเป็นแม่ทัพใหญ่บัญชาการ" ทหารไทยบอกไปว่า เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพ อะแซหวุ่นกี้จึงประกาศหย่าทัพ ขอดูตัวแม่ทัพไทย

    เวลานั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จทอดพระเนตรอยู่ในค่ายนั้นด้วย ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นกิริยาท่าทางสุภาพองอาจ และท่วงทีรูปโฉมของเจ้าพระยาจักรีเมื่อออกยืนทัพรับอะแซหวุ่นกี้คราวนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระเกษมสันต์โสมนัสปราโมทย์ถึงกับออกพระโอษฐรับสั่งชมว่า "งามเป็นเจ้าพระยากษัตริย์ศึกเจียวหนอ" แต่นั้นมานามอันนี้ จึงเป็นนามที่แม่ทัพนายกองแลทหารทั้งปวง พากันนิยมเรียกว่า เจ้าพระยากษัตริย์ศึกแต่คราวนั้นมา ในกองทัพพม่าก็พลอยเรียกว่า เจ้าพระยากษัตริย์ศึก ตลอดไปจนถึงทางราชการฝ่ายพม่า ก็ได้จดหมายเหตุลงพงศาวดารไว้ว่า เจ้าพระยากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพฝ่ายไทย ได้รบกับอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่าที่เมืองพระพิษณุโลก เมื่อปีมะเส็งถึงปีมะแม สัปตศก จุลศักราช ๑๑๓๗ ปี ครั้นเมื่อทอดพระเนตรแลทรงชมเชยแล้ว ก็ยาตรากระบวนออกยืนม้าหน้าพลเสนา ณ สนามกลางหน้าค่ายทั้งสองฝ่าย

    ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้ ก็จัดกระบวนแต่งตัวเต็มที่อย่างจอมโยธา ออกยืนอยู่หน้ากระบวน ณ กลางสนาม หน้าค่ายทั้งสองฝ่ายเช่นเดียวกัน (ตอนดูตัวนี้ความพิสดารมีแจ้งอยู่ในพระราชพงศาวดาร) ครั้นอะแซหวุ่นกี้ ได้เห็นเจรจาชมเชย พูดจาประเปรยตามชั้นเชิงพิชัยสงคราม แล้วก็นัดรบต่อไป แต่อะแซหวุ่นกี้คิดจะล่าทัพถอยกลับกรุงอังวะเป็นอย่างมากกว่าจะคิดแข็งใจรบเอาเมืองพิษณุโลก แต่แตกแล้วก็ร่นถอยล่าไปออกทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์ทำกิริยาท่าทางเหมือนจะไปชิงเอาเมืองกำแพงเพชร ทำให้ฝ่ายไทยต้องแบงออกเป็นหลายกองติดตามพม่า ก้าวสกัดหน้าตีวกหลังตามเชิงกลยุทธ ฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็เสด็จกลับเข้ากรุงธนบุรี ป้องกันพระราชธานีต่อไป
    ที่มา http://palungjit.org/threads/เพียง๑๐๐บาทร่วมบุญปิดสมเด็จพระพุฒาจารย์โต๖๙นิ้ว.548123/
     

แชร์หน้านี้

Loading...