ตามรอย กษัตริย์พระองค์ ใหม่ของโลก "อนาคตของชาติเราขึ้นอยู่กับคุณค่า ความสามารถและแรงจูงใจของเยาวชน"

ในห้อง 'ข่าวในพระราชสำนัก' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 9 ธันวาคม 2008.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,494
    ตามรอย กษัตริย์พระองค์ ใหม่ของโลก "อนาคตของชาติเราขึ้นอยู่กับคุณค่า ความสามารถและแรงจ

    ตามรอย กษัตริย์พระองค์ ใหม่ของโลก "อนาคตของชาติเราขึ้นอยู่กับคุณค่า ความสามารถและแรงจูงใจของเยาวชน"

    คอลัมน์ STORY

    โดย จักรพงษ์ วรรณชนะ /ภาพ จักรพงษ์ วรรณชนะ และ Leonardo G.Ponce จาก www.flickr.com


    <TABLE cellSpacing=5 cellPadding=1 width="20%" align=left border=0><TBODY><TR bgColor=#f8b8cb><TD>[​IMG]
    </TD></TR></TBODY></TABLE>ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของ ราชอาณาจักรภูฏานต้องจดจารึกไว้ในความทรงจำ

    เมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ได้ทรงเข้าพระราชพิธีราชาภิเษกอย่างเป็นทางการ เป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 5 อย่างสมบูรณ์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ที่หนุ่มที่สุดในโลก !

    พระราชพิธีในครั้งนี้มีความหมายต่อประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรภูฏานอย่างมาก เพราะเป็นทั้งพระราชพิธีราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีอันสง่างาม ซึ่งสืบทอดกันมายาวนานหลายทศวรรษ รวมทั้งยังเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีแห่งราชวงศ์วังชุกอีกด้วย

    ด้วยสายสัมพันธ์อันดีที่มีต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน ระหว่างราชวงศ์ "วังชุก" และครอบครัว "สมบัติศิริ" โดยเฉพาะ "คุณเป็ก" พิไลพรรณ สมบัติศิริ ผู้ซึ่งสมเด็จพระราชชนนี (สมเด็จย่าของพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 5 องค์ปัจจุบัน) พระราชทานความเมตตาเป็นพิเศษ

    คุณพิไลพรรณได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลภูฏาน แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาในการจัดเตรียมงานพระราชพิธียิ่งใหญ่แห่งปี

    ในฐานะกรรมการผู้จัดการ รวมทั้งทีมงานจากโรงแรมปาร์ค นายเลิศ แรฟเฟิลส์ อินเตอร์เนชั่นเนล จึงมีหน้าที่ให้คำปรึกษาเรื่องต่างๆ เช่น การจัดเลี้ยง แปลนการจัดสถานที่ รายการอาหาร จัดหาอุปกรณ์ในงาน และการตกแต่งดอกไม้ในบริเวณมณฑลพิธี

    ในโอกาสนี้ผู้เขียนได้รับความเมตตาจากคุณพิไลพรรณให้ร่วมทริปไปช่วยงานพระราชพิธีดังกล่าวด้วย

    สิ่งสำคัญที่สุดคือ งานนี้เราไม่ได้สินจ้างรางวัลใดๆ แต่ทำด้วยใจ ด้วยความรักและสายสัมพันธ์อันยิ่งใหญ่โดยแท้ !!!

    ซึ่งทางพระราชวงศ์ภูฏาน รัฐบาลภูฏาน เจ้าหน้าที่ระดับสูง และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มีความเอื้ออาทรในการดูแลทีมงานทุกๆ เรื่องได้อย่างดีมาก

    เรื่องราวและภาพอันสวยงามประทับใจในช่วงวันสำคัญต่างๆ ที่ได้เห็นอยู่นี้ เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้มีโอกาส มาสัมผัสและเห็นกับตา

    เรามาถึงเมืองท่าพาโร (Paro) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ในช่วงต้นฤดูหนาวที่อากาศเย็นเยือก แต่ท้องฟ้ากระจ่างเป็นสีครามสดและแดดกล้า

    สถานที่ทำการของท่าอากาศยานดูเปลี่ยนแปลงไป เพราะตอนนี้ถูกสร้างขึ้นใหม่ดูใหญ่โตโอ่อ่า แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมไว้ได้อย่างไม่เสื่อมคลาย

    ภายในอาคารผู้คนชาวภูฏานและนักท่องเที่ยวต่างชาติดูหนาตามากทีเดียว

    สีสันธงทิว 5 สี 5 ชาย ระบัดพลิ้วไปตลอดสองข้างทางที่ออกจากสนามบิน ยังเห็นซุ้มประตูที่ประดับลวดลายสีสันสดใสสวยงาม อันเป็นสัญลักษณ์ให้เรารู้ว่า ณ ดินแดนแห่งนี้กำลังจะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น

    ทางรัฐบาลได้ตระเตรียมงานพระราชพิธีมาเกือบ 2 ปีเต็ม เพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองไว้อย่างดีพร้อม

    ถนนหนทางถูกตัดใหม่ อย่างถนนใหญ่ฟรีเวย์ที่ช่วยย่นระยะทางจากเมืองท่าพาโรสู่เมืองหลวงทิมพู (Thimpu) ให้เหลือเพียง 1 ชั่วโมงกว่าๆ เท่านั้น

    ตลอดจนสองข้างทางเราจะได้เห็นภาพคนงานกำลังติดตั้งธงหรือตุงที่เขียนอักขระภาษาทิเบต เพื่อถวายเทวดาอารักษ์อยู่บนสันเขาเป็นระยะๆ ริมถนนหนทางจะเต็มไปด้วยกองกำลังคนที่กำลังปรับปรุงไหล่ทางและทำความสะอาดกันอย่างยกใหญ่

    ภายในตัวเมืองหลวงทิมพู ที่เกาะกลางกลางถนน และเสาไฟทุกต้น ไม่เว้นแม้หน้าอาคารและบ้านเรือนก็พร้อมใจกันติดภาพของพระบรมฉายาลักษณ์กษัตริย์พระองค์ใหม่เคียงข้างธงชาติภูฏานและธงสัญลักษณ์ครบ 100 ปี เพื่อน้อมเกล้าถวายพระพรชัย

    พระราชพิธีได้จัดขึ้นตามธรรมเนียมโบราณเป็นเวลา 5 วัน ตามสถานที่สำคัญต่างๆ ในเมืองหลวงทิมพู

    แต่ก่อนหน้านี้หลายวันมีพระราชพิธีบรมราชภิเษกตามราชประเพณีโบราณของภูฏาน ซึ่งยังเป็นพิธีลับที่กระทำเป็นการส่วนพระองค์ โดยประกอบพิธีดังกล่าวที่พระบรมมหาราชวังพูนาคา (Punakha Dzong) ในเมืองพูนาคา

    พระราชพิธีที่ถือว่าเป็นไฮไลต์ที่สุด คือ พระราชพิธีราชาภิเษกซึ่งจัดขึ้นที่พระบรมมหาราชวังทาชิโช ซอง (Tashichho Dzong)

    ย่ำรุ่งวันที่ 6 พฤศจิกายน บนถนนสายหลักที่มุ่งหน้าสู่พระบรมมหาราชวัง จะเนืองแน่นเบียดเสียดไปด้วยประชาชน นับพันที่ต่างเข้าแถวรอรับเสด็จสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก กษัตริย์รัชกาลที่ 5 และพระบรมวงศานุวงศ์ของราชวงศ์ภูฏานทุกพระองค์

    บุรุษจะใส่ชุดพื้นถิ่นหรือชุดโก๊ะ (Gho) โดยมีผ้ากับเน่ (Kabney) หรือผ้าคล้องไหล่สีขาวพาดอยู่บนไหล่ แต่ละคนจะใช้อีกมือประคองผ้าไว้เพื่อรอคอยทำความเคารพกษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของพวกเขา

    ส่วนสตรีจะนุ่งชุดประจำชาติคีร่า (Kera) โดยสวมเสื้อแจ็กเกตที่ตัดจากผ้าปังลิ้มหรือผ้าโบรเคด (Brocade) ลวดลายและสีสันงามสะท้อนแสงแดดเป็นเงาแวววับระยิบราวกับดาวเคราะห์ ที่ไหล่จะพาดผ้าทอที่มีชายครุยยาวหรือราชู (Rachu) สีสดใสไว้ด้วย

    คนที่นี่เขามีความภูมิใจในชุดประจำชาติ ไม่มากหรือน้อยไปกว่าความภูมิใจในชาติ และความภูมิใจในพุทธศาสนาของตน

    เด็กๆ ในชุดประจำชาติขนาดจิ๋ว ในมือจะโบกสะบัดธงชาติกระดาษและธงสัญลักษณ์การเฉลิมฉลองครบ 100 ปีไปมาตลอดเวลา

    เมื่อตะวันพ้นสันเขาขึ้นมา แสงแดดแผดจ้ากระทบสีสันของเสื้อผ้างามจับตาไปทั่วบริเวณ

    เสียงจากเครื่องดนตรีโบราณดังกังวานขึ้น เพื่อบรรเลงเพลงสดุดี ริ้วขบวนนำเสด็จอันตระการตาแบบโบราณในชุดเต็มยศ ซึ่งเต็มไปด้วยสีสัน

    พระราชวงศ์และแขกระดับ วี.ไอ.พี. ซึ่งเดินทางมารอรับเสด็จที่มณฑลพิธีบนลานกว้างภายในพระบรมมหาราชวัง บุคคลสำคัญที่สุดมีความสัมพันธ์อันดีกับราชวงศ์วังชุกก็คือ ประธานาธิบดีอินเดีย ประติภา ปาติล ประธานคองเกรส นางโซเนีย คานธี และครอบครัว จากประเทศอินเดีย

    เวลามหามงคลฤกษ์ 08.31 น. สมเด็จพระราชธิบดีจิกมี

    เค เซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงรับการสวมมงกุฎผ้าไหมซาตินประดับรูปกา (Raven Crown) จากสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเก ผู้เป็นพระราชบิดา เฉลิมราชสมบัติเป็นกษัตริย์แห่งภูฏาน รัชกาลที่ 5 อย่างสมบูรณ์

    ประชาชนบางส่วนที่ไม่สามารถมาร่วมพิธีได้ สามารถเปิดโทรทัศน์ชมการถ่ายทอดสด เพราะทางราชสำนักยอมเปิดเผยรายละเอียดของพระราชพิธีซึ่งสืบเนื่องมาจากพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์แห่งทิเบตตั้งแต่ในคริสต์ศักราช 755 โดยให้คนทั้งโลกและประชาชนทั่วประเทศได้ชมเป็นครั้งแรก

    ประเทศที่ไร้ทางออกทะเลและถูกขนาบข้างด้วยประเทศมหาอำนาจอย่างอินเดียและจีน จึงจำเป็นต้องรักษาปกป้องเอกลักษณ์อันแตกต่างของตนไว้ให้ได้ และทุกวันนี้ก็ยังรักษาไว้ได้อย่างดีเยี่ยม

    ช่วงเช้าวันต่อมาพระราชพิธีจัดขึ้นที่สนามกีฬาแห่งชาติกลางแจ้งชาง กลิมิทัง (Changlimitang) ในวันนั้นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เสด็จขึ้นที่ประทับ ณ พลับพลาพิธี ทรงทอดพระเนตรการสวนสนามของทหารทุกเหล่าทัพ และเสด็จขึ้นรถจี๊ปพระที่นั่งเพื่อตรวจแถวทหาร

    หลังจากนั้นเป็นพิธีสำคัญ คือ ประชาชนได้จัดของถวายเพื่อแสดงความจงรักภักดี ตามราชประเพณี

    ประชาชนนับหมื่นๆ คนต่างมารอกันตั้งแต่ย่ำรุ่ง เพื่อจะได้ให้ตัวเองและครอบครัวได้มีส่วนร่วมในงานพระราชพิธีสำคัญในครั้งนี้ ที่นั่งทุกตารางนิ้วตารางเซนต์ ในสนามกีฬาแห่งชาติจึงถูกยัดเยียดไปด้วยผู้คนนับหมื่น

    หลังจากพิธีสวนสนามจบลง พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ได้ตรัสกับประชาชน โดยมีความในพระราชดำรัสที่แสนกินใจ ตอนหนึ่งที่ตรัสถึงเยาวชนของชาติว่า

    "...เราไม่อาจจบคำกล่าวได้โดยไม่เอ่ยถึงเยาวชน ซึ่งเป็นประชาชนที่สำคัญที่สุดของเรา อนาคตของชาติเราขึ้นอยู่กับคุณค่า ความสามารถและแรงจูงใจของเยาวชนเราในวันนี้ ดังนั้นเราจะยังหยุดไม่ได้จนกว่าจะได้มอบแรงบันดาลใจ ความรู้และความสามารถให้แก่พวกเจ้าเยาวชน เพื่อที่ว่าไม่เพียงพวกเจ้าจะได้เติมเต็มความปรารถนาอันสูงสุดของตัวเองแล้ว แต่พวกเจ้าจะมีค่ามหาศาลต่อประเทศชาติด้วย นี่คือภาระหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของเรา

    ...หนุ่มสาวชาวภูฏานที่มีแรงจูงใจอันแรงกล้า หมายถึงอนาคตอันสดใสของเรา อนาคตไม่ใช่สิ่งที่ลึกลับหรือมองไม่เห็น อนาคตก็คือสิ่งที่เราสร้างขึ้น อะไรก็ตามที่เราทำด้วยสองมือในวันนี้ ล้วนแล้วแต่มีส่วนสรรค์สร้างอนาคตของชาติเราในวันข้างหน้า บุตรหลานของพวกเราในวันพรุ่งนี้จะต้องหล่อหลอมโดยพวกเราในวันนี้..."

    กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงเน้นย้ำถึงเยาวชน ซึ่งเป็นประชาชนที่มีค่ามหาศาลที่สุดของประเทศ อนาคตของชาติขึ้นอยู่กับคุณค่า ความสามารถและแรงจูงใจของเยาวชน เยาวชนบ้านเขายังคงเคารพวัฒนธรรมประเพณี รักชาติ รักแผ่นดิน รักในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และถือเอาประโยชน์สุขของส่วนรวมเหนือประโยชน์ส่วนตัว

    ถ้าลองนำมาเปรียบเทียบกับบ้านเมืองของเรา ปัญหาของเราคือไม่สร้างคน สร้างแต่ตึก สร้างแต่ถนน สร้างโน้นสร้างนี่ แต่ประเทศนี้เขาไม่ได้มองที่เม็ดเงิน เขาเน้นที่ความสุขของคนในชาติ เน้นในคุณค่าของเยาวชนและพลเมือง

    เขามองว่าสร้างคนเป็นเรื่องใหญ่ สร้างคนให้เขาชาญฉลาด แล้วเขาก็ไปสร้างอนาคตให้กับชาติ บ้านเมืองต่อ เป็นกำไรและมีมูลค่ามหาศาล จะเชื่อหรือไม่ว่าถ้าคุณเดินไปตามท้องถนนหรือในตลาด คนของเขาพูดภาษาอังกฤษกันได้อย่างคล่องปรื๋อ แม้แต่คนกวาดถนน แม่ค้าขายผักและผลไม้ พนักงานขับรถ พนักงานยกกระเป๋า หรือบางคนที่ไม่พูดภาษาอังกฤษ พูดแต่ภาษาท้องถิ่น แต่เราก็สามารถอยู่กับเขาได้เป็นวันๆ ราวกับเป็นคนธาตุเดียวกัน นี่แหละเป็นสิ่งที่เราน่าจะฉุกคิด

    เพราะภูฏานได้รับการยกย่องจากทั่วโลกในนโยบายการพัฒนาของประเทศที่ตระหนักถึงการสร้างความสุขให้ประชาชน โดยเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม โดยไม่มุ่งสะสมเงินทอง หรือมุ่งการบริโภคทางวัตถุเหมือนประเทศอื่นๆ

    หลักการนี้ภูฏานเรียกว่า ความสุขมวลรวมประชาชาติ (gross nation happiness : GHN) ช่างเป็นศัพท์แสงที่ดูหรูหรายิ่งนัก แต่ถ้าบอกว่าความสุขแบบ "พอเพียง" นั้นดูจะลื่นหูมากกว่า แนวคิดเศรษฐกิจทางเลือกซึ่งมีพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก กษัตริย์แห่งภูฏาน รัชกาลที่ 4 เป็นผู้ให้กำเนิดนี้ เป็นแนวคิดที่มีหลักใหญ่ใจความ คือ ใช้ความสุขของประชาชนเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การวางเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาไว้ที่ "ความสุขทางใจ" ของประชาชนในชาติเป็นสำคัญ

    แนวความคิดนี้เป็นแนวคิดทางพุทธศาสนาหรือเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ และเป็นแนวการพัฒนาที่ค่อยๆ มีอิทธิพลต่อกลุ่มคนทำงานภาคสังคมทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีการจัดประชุมนานาชาติเพื่อนำแนวคิดนั้นมาปรับใช้ให้เข้ากับสภาพสังคมปัจจุบันของแต่ละประเทศ

    พระราชพิธียังไม่จบเพียงแค่นั้น หลังจากทรงมีพระราชดำรัสแล้ว จากนั้นก็เสด็จขึ้นเยี่ยมประชาชนบนอัฒจันทร์ เพื่อให้ประชาชนได้เฝ้าชมพระบารมีอย่างใกล้ชิด พระองค์เสด็จขึ้นไปนั่งอยู่ท่ามกลางประชาชน ทรงทักทายประชาชนอย่างไม่ถือพระองค์ พระพักตร์เบิกบานและอิ่มเอมใจตลอดเวลา สำหรับเด็กๆ นั้นพระองค์จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ จะเอียงพระพักตร์ให้เด็กๆ หอม เด็กตัวเล็กๆ เกือบทุกคนจะได้สัมผัสพระหัตถ์พระองค์ด้วย

    ในสนามตลอดทั้งวัน หน่วยงานราชการได้จัดการแสดงเพื่อถวายพระพร การแสดงชุดสำคัญต่างๆ อาทิ การแสดงนาฏศิลป์จากพระภิกษุสงฆ์ในชุดที่แสนจะดราม่านั้นหาชมไม่ได้ง่ายๆ นัก รวมทั้งระบำหน้ากาก ซึ่งดินแดนนี้นักบวชสามารถออกท่าเต้นได้โดยไม่ผิดธรรมวินัยและถือเป็นหลักสูตรหนึ่งที่นักบวช

    ต้องเรียนรู้ ฝึกฝนเปรียบเสมือนนักบวชเป็นตัวแทนของสิ่ง

    ศักดิ์สิทธิ์ที่มาปรากฏในร่างทรงและออกท่าร่ายรำได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

    ยังมีการแสดงอีกหลายชุดจากที่เหล่านักแสดงเป็นนักเรียนตัวน้อยๆ ยังมีนักศึกษา และชาวบ้านที่เป็นตัวแทนในจังหวัดตามภาคต่างๆ ของประเทศอีกนับ 1,000 คน

    การแสดงดำเนินต่อไปจนเกือบใกล้พลบค่ำ พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ยังคงเสด็จพร้อมกันเพื่อทักทายเหล่าข้าราชการ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พระสหายตามเต็นท์ผ้าต่างๆ ริมขอบสนามกีฬาอย่างทั่วถึง

    ในวันสุดท้ายของพระราชพิธีราชาภิเษก ได้จัดให้เป็นวันกีฬา วันนี้พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ยังคงเสด็จกันอย่างพร้อมเพรียงที่สนามกีฬาแห่งชาติกลางแจ้ง ได้จัดให้มีการแข่งขันกีฬาหลายประเภท แต่ที่พระมหากษัตริย์ทรงพระสำราญและพระสรวลท่ามกลางหมู่พสกนิกรมากที่สุด คือ กีฬาทุบคนตกน้ำ หรือชกมวยทะเล ซึ่งเป็นกีฬาที่สร้างเสียงหัวเราะ และความสุขแก่ผู้ชมได้อย่างกึกก้อง

    ช่วงบ่ายพระมหากษัตริย์จะทรงรับผ้าถวายพระพร หรือ

    ผ้ากตะ (khadar) จากประชาชนด้วย ทางรัฐบาลได้อนุญาตให้ประชาชนส่วนหนึ่งเข้ามาในสนามได้

    แต่ประชาชนอีกจำนวนมากก็ต้องผิดหวังเพราะพื้นที่มีจำกัด มีประชาชนอีกมากที่เดินทางมาจากหุบเขาอันแสนไกลได้มานอนรออยู่บริเวณรอบๆ สนามเลยทีเดียว และบางคนก็เข้ามาร่วมงานติดกันเป็นวันที่ 3 แล้ว

    ผู้คนนับหมื่นที่ถือผ้าถวายพระพรแพรไหมสีขาวอยู่ในมือ จะได้ถวายผ้าพระพรแก่พระมหากษัตริย์ถึงพระหัตถ์ เมื่อพระองค์รับผ้าถวายพระพรแล้ว พระองค์จะพลิกพระหัตถ์ลูบผ้าเพื่อถ่ายพระบารมีลงสู่ผ้าและมอบคืนแก่ผู้ถวาย

    พระองค์ท่านจึงได้รับการถวายราชสมญานามว่า "กษัตริย์ของมวลชน" (The people"s King) อย่างแท้จริง

    ภาพประวัติศาสตร์ช็อตสุดท้ายที่น่าประทับใจยิ่ง คือ เมื่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 พระราชินีทุกพระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จลงมาที่กลางสนามเพื่อเต้นระบำพื้นเมืองทาชิ เลเบ้ (Tashi Lebey) ร่วมกับประชาชนและแขกเมือง ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนมีความสนุกสนานและประทับใจผู้มาเยือนอย่างยิ่ง

    ตั้งแต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 4 ทรงสละราชสมบัติให้พระโอรสหลังจากครองราชย์มายาวนานถึง 34 ปี เพื่อเปิดให้มีการเลือกตั้งในระบอบรัฐสภา

    จากนั้นก็มีการเลือกตั้งทั่วประเทศขึ้น ในช่วงต้นปี 2008 ภูฏานได้กลายเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และปิดศตวรรษแห่งการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างสิ้นเชิง

    ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ เพิ่งได้เริ่มต้นขึ้น แต่ในอนาคตอันใกล้เชื่อว่าภูฏานต้องเผชิญกับความท้าทายและแรงกดดันจากโลกโลกาภิวัตน์อย่างแน่นอน

    สังเกตได้อย่างชัดเจนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก ภายในตัวเมืองทิมพู มีโรงแรมสุดหรูแบบ

    ลักเซอรี่สูงหลายสิบชั้นผุดขึ้นหลายโรงแรม มีสนามกอล์ฟบนเนินเขาที่มองลงมาเห็นวิวอันงดงามของพระบรมมหาราชวัง มีดิสโก้เธคและไนต์คลับที่มีร้องคาราโอเกะที่เปิดขึ้นกันเป็นว่าเล่น อีกทั้งรถราก็ดูคลาคล่ำมากขึ้นทวีคูณ

    พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ที่ทรงตั้งอยู่ในธรรมและทรงพระปรีชาสามารถ และจะทรงสามารถนำพาประเทศ สังคมให้ธำรงเอกลักษณ์ของตนไว้ได้อย่างไร จะทรงรักษาดุลยภาพที่ดีระหว่างจารีตประเพณี และการพัฒนาประเทศควบคู่ไปกับนโยบายความสุขมวลรวมประชาชาติอยู่อย่างเดิมได้หรือไม่ อันนี้เราต้องติดตาม

    ส่วนในบ้านเมืองเราช่วงนี้ ช่างถอยห่างจากความสุขไปไกลเหลือเกิน แม้คนไทยบางคนอ้างว่าเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง แต่ประชาธิปไตยก็ได้สร้างความวุ่นวายได้ไม่หยุดหย่อนเช่นกัน

    คนไทยแตกแยกความสามัคคีกันมากขึ้น ความสุขแบบเดิมๆ ที่สะสมกันมานับร้อยๆ ปีหายไปในชั่วพริบตา

    เราน่าจะฉุกคิดกันได้แล้วว่า ความสุขแบบแน่นขนัด หรือรอยยิ้มแห่งสยามนั้นหายไปไหน ? เรายังคงต้องการให้มีอยู่หรือไม่ ?

    วันนี้...ท่านคงต้องถามใจท่านดูเองแล้วกันนะครับ :

    --------
    [​IMG]
    http://www.matichon.co.th/prachacha...g=02dlf03081251&day=2008-12-08&sectionid=0225
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...