ทำอย่างไรจึงจะไม่โกรธ ?

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย tamsak, 22 เมษายน 2008.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. tamsak

    tamsak ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กันยายน 2004
    โพสต์:
    7,857
    กระทู้เรื่องเด่น:
    22
    ค่าพลัง:
    +161,177
    ถาม : แล้วถ้าหากจะไม่ให้โกรธล่ะเจ้าคะ?
    ตอบ : อันนี้ต้องมีสติรู้ให้ทัน ความโกรธจะเข้ามาหาเราง่ายที่สุด ทางตากับทางหู ตาเห็นรับเข้าไปสู่ใจ ไม่พอใจ หูได้ยินรับเข้าไปสู่ใจ ไม่พอใจ ในเมื่อไม่พอใจ มันก็จะเริ่มกรุ่นขึ้นมาลักษณะเหมือนกับควันขึ้นแล้ว พอควันขึ้นถ้าเราปล่อยโดยการที่ไปนึกคิดปรุงแต่งต่อ มันก็จะเป็นเปลวไฟไหม้ล่ะ คราวนี้กลายเป็นโทสะ

    พอทำเขาไม่ได้ ด่าเขาไม่ได้อย่างใจ ทำร้ายเขาไม่ได้อย่างใจ คราวนี้ พยาบาท จ้ะ มันก็มีแต่เผาเราอยู่คนเดียว เพราะฉะนั้นสติต้องรู้เท่าทัน พอตาเห็นปุ๊บสักแต่ว่าให้มันเห็นเท่านั้น หูได้ยินปุ๊บสักแต่ว่าให้มัน ได้ยินแค่นั้น ให้คิดว่าธรรมดาของเขาเป็นอย่างนั้น

    บุคคลที่ยังไม่เห็นทุกข์เห็นโทษว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นโทษ แก่คนอื่นอย่างไร เป็นโทษแก่ตัวเองอย่างไร เขาก็ยังทำสิ่งนั้นอยู่ด้วยความยินดีและเต็มใจ แต่ว่าสิ่งนั้นจะเป็น โทษสาหัสกับเขาในภายภาคหน้า เขาไม่สามารถจะมองเห็นได้ คนที่มองไม่เห็นโทษของตัวเองจริง ๆ แล้ว ไม่ใช่คนที่น่าโกรธ หากแต่เป็นคนที่น่าสงสารที่สุด ถ้าเรารู้จักคิดอย่างนี้มันก็จะไม่โกรธ หรือไม่ก็โกรธน้อยลง อย่าลืมว่าสติต้องทันนะ ถ้าสติไม่ทันนี่มันพาเราไปหลายกิโลเลย กว่าจะดึงมันกลับได้


    ถาม : เคยบอกว่าถ้าทำพรหมวิหารสี่ แล้วจะมองเห็นเหมือน....(ฟังไม่ชัด)
    ตอบ : ก็คือว่าให้อารมณ์ของพรหมวิหารสี่นี้ทรงอยู่ในใจตลอดเวลา สมมติว่าโยมเริ่มในช่วงเช้า โยมพิจารณา ว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้มีปกติก็คือว่า เกิดแก่ เจ็บ ตาย เหมือนกับเรา เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลางสลายไปในที่สุด ไม่มีตัวตน เราเขาผู้ใดผู้หนึ่งที่จะทรงอยู่ได้นะ ทุกคนล้วนแล้วแต่เวียนว่ายอยู่ในทุกข์ทั้งสิ้น เราจะเบียดเบียนเขาหรือไม่เบียดเบียนเขา เขาก็ทุกข์ เขาจะไม่เบียดเบียนเรา เราก็ทุกข์ ต่างคนต่างทุกข์อยู่แล้ว เราอย่าไปเพิ่มเติมความทุกข์อันนั้นให้แก่ผู้อื่นและตัวเราเลย ขอให้เขาทั้งหลาย เหล่านั้นจงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรมีกรรมและเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย ตั้งใจแผ่เมตตา ออกไปในทิศทั้งสี่ จนกระทั่งกำลังใจของเราเยือกเย็นทรงตัวแล้ว

    ให้โยมจับตัวอานาปานุสสติ คือลมหายใจเข้าออกของเรานี่ภาวนาต่อไปเลย พอภาวนาอารมณ์ทรงตัวแล้วรักษาอารมณ์นั้นเอาไว้ ตัวอารมณ์พรหมวิหารสี่ก็จะทรงอยู่กับเราตลอดเวลาที่เรามีสติรู้ลมหายใจเข้าออกอยู่ ถ้าหลุดจากลมหายใจเข้าออกเมื่อไรมันจะค่อย ๆ สลายตัวไป เพราะฉะนั้นถ้าโยมจะทรงให้ได้ทั้งวันอย่างที่ว่า โยมต้องเกาะอารมณ์ภาวนาอยู่ตลอดคือหลังจากที่แผ่เมตตาจนอารมณ์ใจเยือกเย็นทรงตัว แล้วเกาะอารมณ์ภาวนาต่อไปเลย มันก็จะเข้าถึงอารมณ์สูงสุดของตัวนั้นได้ ถ้าเราเข้าถึงอารมณ์ของฌานสี่ยิ่งได้สมาบัติแปดยิ่งดี เราก็เกาะ ตรงจุดนั้นเอาไว้ เราก็จะทรงพรหมวิหารสี่ได้ตลอด

    ถ้าตัวนี้อยู่กับเราตลอด เราก็จะไม่โกรธใคร เพราะว่าเรารักเขาเหมือนกับตัวเรา ไม่คิดอยากจะเบียดเบียนใครสงสารเขาอยากให้เขาพ้นทุกข์เหมือนกัน ถ้าเขาทำอะไรดีก็พลอยยินดีเมื่อเขาอยู่ดีมีสุข ถ้าเขาตกอยู่ในความทุกข์ช่วยเหลือเขาจนสุดความสามารถแล้ว ไม่สามารถช่วยเหลือได้ จึงปล่อยวางอยู่ในอุเบกขา อารมณ์เหล่านี้จะทรงอยู่กับเราตลอด

    ถ้าอารมณ์อุเบกขาทรงตัวศีลก็จะบริสุทธิ์โดยอัตโนมัติ แล้วขณะเดียวกันว่าอารมณ์ตัวโกรธมันก็ลดลง ค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ถ้าหากว่าจิตใจเรายิ่งเยือกเย็นในพรหมวิหารสี่ตลอดไป ตัวไฟโทสะมันก็ดับมอดไปเรื่อยจนกระทั่งมันสิ้นเชื้อไปเอง จริง ๆ แล้วพวกเราเวลาแผ่เมตตาอะไรเสร็จแล้ว เราไม่ได้ ภาวนาต่อให้อารมณ์มันทรงตัว หรือว่าถึงภาวนาต่อจนอารมณ์ทรงตัว แต่ว่าเราลุกขึ้นแล้วเราไม่รักษาอารมณ์นั้นไว้ เราไปปล่อยเลย

    ตัวรักษาอารมณ์ให้ต่อเนื่องนั้นสำคัญที่สุดสำหรับนักปฏิบัติทุกคน ถ้าเราไม่รักษาอารมณ์นั้นให้ต่อเนื่อง มันเหมือนว่ายทวนน้ำมาระยะหนึ่งแล้วพอ เลิกปุ๊บเราก็ปล่อยมันลอยตามน้ำไปเลย แทนที่จะพยายามตะเกียกตะกายว่ายให้มันคงอยู่ในระดับนั้น ในเมื่อเราลอยตามน้ำไปไกลแล้ว พอถึงเวลาว่ายกลับมาใหม่ มันก็จะได้อย่างเก่งก็ได้กว่าเดิมหน่อยหรือน้อยกว่าเดิมซะด้วยซ้ำ มันก็กลายเป็นว่าได้แต่งาน แต่ผลงานไม่ได้ เพิ่มขึ้น ก็ขาดทุนไปเรื่อยเพราะว่ามันก็เหนื่อยฟรี พอทำไปหลาย ๆ ปีเข้าชักท้อ มันไม่ก้าวหน้าสักที ความจริงเราเองทำผิดวิธีจ้ะ ขยันน่ะยังขยันอยู่ แต่พอขยันผิดวิธีคราวนี้หมดกำลังใจ


    ถาม : เวลาทำได้แล้ว ไม่ทราบว่าทำอย่างไหนมาก ขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นปลาย?
    ตอบ : เอาอย่างหลวงพ่อว่านั่นแหละ ถ้าได้มโนมยิทธินี่ง่ายเลยโดดขึ้นไปกราบพระบนนิพพาน ตั้งใจขออยู่กับท่านไม่ไปไหนแล้วล่ะ ทำอย่างไรก็ได้ สวดมนต์ภาวนาอะไรก็ได้ รักษาอารมณ์ใจจดจ่ออยู่ตรงนั้น รัก โลภ โกรธ หลง จะกินเราไม่ได้เป็นวิธีตัดกิเลสที่ง่ายที่สุด ถ้าไม่ได้มโนมยิทธิให้ตั้งใจภาวนา หลวงพ่อท่านสอนว่าให้จับภาพพระพร้อมกับลมหายใจเข้าออก

    ถ้าหากว่าพระเป็นสีเขียว สีเหลือง สีขาว ให้ตั้งใจจับสีนั้นด้วยภาวนาไปนึกถึงภาพพระไป ใช้คำว่าง่าย ๆ ว่า พุทโธ การภาวนานึกถึงลมหายใจเข้าออกเป็นอานาปานุสสติ การใช้คำว่าพุทโธ และเพ่งภาพพระเป็นพุทธานุสสติ การกำหนดภาพพระหรือเห็นภาพพระอยู่เป็นกสิณ เราจะได้สามอย่างพร้อมกัน ในเมื่อเราทำไป ๆ จนให้อารมณ์ใจมันทรงตัวไปต่อไม่เป็นแล้วก็คลายอารมณ์ใจถอยลงมาให้พิจารณาดูว่า โลกนี้ไม่เที่ยงทุกอย่างในโลกนี้เป็นทุกข์ ทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา ถึงเวลาทุกอย่างก็ตาย ก็พังหมด คนสัตว์ วัตถุธาตุสิ่งของ มีสภาพเดียวกันหมด

    ในเมื่ออารมณ์ใจมันทรงตัวดีแล้ว มันจะภาวนาของมันต่อโดยอัตโนมัติ พอมันภาวนาโดยอัตโนมัติ จนถึงจุดตันแล้วประคองมันไว้ให้มันค่อย ๆ ถอยออกมาอย่างระมัดระวัง แล้วมาคิดพิจารณาใหม่ จะพิจารณาในแบบไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ได้ จะพิจารณาแบบอริยสัจสี่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคก็ได้ แต่ว่าอริยสัจสี่นี่จับแค่สองตัวหรือจะจับแค่ตัวเดียวก็ได้ จับแค่สองตัวก็คือสมุทัยเหตุของทุกข์ แล้วพอเราไม่สร้างเหตุนั้นทุกข์ก็ดับ หรือไม่ก็จับตัวทุกข์ตัวเดียวว่ามันทุกข์อย่างนี้แหละเราไม่เอามันอีก

    แล้วถ้าหากเราไม่คล่องตัวจะถนัดทางวิปัสสนาญาณเก้าอย่าง ก็หันมาจับวิปัสสนาญาณเก้าอย่างแทน คือพิจารณาเห็นความเกิดและดับอย่างหนึ่ง พิจารณาแต่ความดับบ้าง พิจารณาเห็นเป็นของน่าเบื่อหน่าย พิจารณาเห็นมันเป็นโทษเป็นภัย พิจารณาเห็นมันเป็นของน่ากลัว เหล่านี้เป็นต้น ค่อย ๆ ดูไป เรื่อย ๆ การพิจารณามันจะได้เปรียบตรงว่า อารมณ์ใจมันจะทรงตัวแล้วมันจะกลายเป็นภาวนาเองโดยอัตโนมัติ แต่ว่าการภาวนา ถ้าหากว่าเราไม่ประคองมันให้ดี พอมันไปถึงจุดสุดของมันแล้ว มันถอยกลับมา ถ้าเราไม่ประคับประคองให้มันคิดในด้านดีด้านถูก มันจะเริ่มฟุ้งซ่านไปกับ รัก โลภ โกรธ หลง ใหม่ โยมทำอย่างนี้ ภาวนาแล้ว พิจารณาสลับไปเรื่อย ๆ ยิ่งพิจารณาได้ตลอดยิ่งดี




    คัดลอกบางส่วนจาก
    สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
    เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๔
    ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ






    .
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 28 กันยายน 2013
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...