ทำไมต้องทำพิธีบวงสรวงในวัน "เสาร์ห้า" ?

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย tamsak, 14 มิถุนายน 2008.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. tamsak

    tamsak ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กันยายน 2004
    โพสต์:
    7,857
    กระทู้เรื่องเด่น:
    22
    ค่าพลัง:
    +161,177
    ถาม : บวงสรวงทำไมเสาร์ห้า ?

    ตอบ : วันเสาร์ห้า ตามสายครูบาอาจารย์ท่านถือเป็นวันไหว้ครูประจำสายของเรา พิธีบวงสรวงก็คือว่า เหมือนกับรำลึกถึงครูบาอาจารย์ ที่มีเมตตากรุณา สั่งสอนพวกเราสืบๆ กันมาจนถึงปัจจุบันนี้ ลักษณะของงานบวงสรวงที่ทำก็ไหว้ตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมาเลย เพราะพระพุทธเจ้าต้องเป็นครูใหญ่อยู่แล้ว

    ถาม : ทำไมต้องใช้เสาร์ห้านี้คืออะไร ?

    ตอบ : คือวันเสาร์ขึ้นห้าค่ำ ถ้าได้เดือนห้ายิ่งดี ถ้าไม่ได้เดือนห้าเดือนไหนก็ได้แต่ต้องเป็นข้างขึ้นคือ ตามสายครูบาอาจารย์เขากำหนดมาอย่างนั้น

    ถาม : ไม่มีเหตุผลเลยเหรอคะ ?

    ตอบ : มีซิจ๊ะ แต่ว่าเหตุผลนี้ยิ่งยอมรับยากใหญ่ อย่างเช่น วันเสาร์ห้านี้เป็นวันแข็งวันที่กำลังสูงอยู่ ถ้าทำอะไรผลประโยชน์ก็จะได้มาก

    ถาม : ใช่ๆ คือคนนี่ชอบบอกแต่ว่ากำลังสูง วันแข็ง คำว่า “กำลังสูง” คำว่า “วันแข็ง” นี่จริงๆ แล้ว หมายถึงอย่างไร ?

    อยู่กับช่วงระยะ จังหวะ เวลา ของการโคจรของดวงดาวเรา ต้องยอมรับว่าโลกของเรามีพลังงาน ดวงดาวทุกดวงมีพลังงานของมันอยู่ จังหวะนั้นวาระนั้นเวลานั้น พลังงานจะหมุนเสริมกันมาสูงกว่า จังหวะอื่น มันเหมือนกับน้ำขึ้นน้ำลง มันขึ้นมันก็ขึ้นเป็นปกติ แต่วันนั้นมันจะขึ้นที่สูงที่สุด อย่างนี้เป็นต้น คราวนี้โบราณาจารย์ที่ท่านมีความรู้ในเรืื่องของโหราศาสตร์หรือว่าดาราศาสตร์ การโคจรของดวงดาวต่าง ๆ ท่านจับเคล็ดตรงนี้ได้ ท่านก็เอาวันอย่างนี้มาเพื่อประยุกต์ใช้งานไป ไม่แจ่มแจ้งประท้วงได้นะ (หัวเราะ)

    ถาม : กำลังสงสัยว่าถ้าเกิดพลังงานที่มันได้มาสูงในที่นี้นี่ แล้วเรามีความจำเป็นอะไรจะต้องไปข้องเกี่ยวด้วย ?

    ตอบ : ในลักษณะของการข้องเกี่ยว คือว่าวันเสาร์ห้าจริง ๆ เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ว่าเราทำเพื่อสงเคราะห์คนอื่นด้วย อย่างเช่นว่า คณะศิษย์ที่เขาต้องการที่จะให้การช่วยเหลือบางส่วนที่เขายังขาดอยู่ ถ้าหากมันไม่มากจนเกินไป อย่างเช่นว่า น้ำแก้วหนึ่งมีแค่นี้ ถ้ามันขาดอยู่แค่นี้ ถ้าอาศัยตรงจุดนั้นอาจจะเติมเต็มพอดี สิ่งที่เขาตั้งความปรารถนาไว้ก็จะสำเร็จตามนั้น แต่ถ้าหากว่ามันขาดมากๆ ก็ไม่สำเร็จเหมือนกัน

    ถาม : เรื่องพูดอย่างนี้ค่อนข้างจะไม่ค่อยเชื่อนะคะ ตรงที่บอกว่าถ้าเราตั้งปรารถนาแล้วเรามาได้ร่วม พิธีตรงนี้นี่จะส่งผลให้เราสมปรารถนา ?

    ตอบ : อันนี้เราแค่มาดูในลักษณะของบุคคลทั่วๆ ไปแล้วกัน อย่างเช่นว่า เราอยู่ในตำแหน่งใหญ่ที่ให้คุณให้โทษคนได้ เราจัดงานขึ้นมาแล้ว บริวารเขามา..พูดง่ายๆ มาโชว์ตัวให้เราเห็น โดยปกติทั่วๆ ไปก็ย่อมพอใจว่าเขายังมางานของเรา มันก็จะเกิดความเมตตามากว่าคนอื่่นเขาขึ้น นี่พูดถึงกำลังใจคนทั่วๆ ไปนะ ที่ยังประกอบด้วยอคติเต็มที่เลย

    ขณะเดียวกันคนที่ไม่มา เอ๊ะ....นี่มันไม่เห็นหัวกูนี่หว่า ก็เลยกลายเป็นว่า ถ้าถึงเวลาถึงวาระที่จะต้องพิจารณาความดีความชอบหรือต้องช่วยเหลือใคร ก็จะช่วยเหลือคนที่เราเห็นหน้ามากกว่า นี่เปรียบเทียบง่ายๆ อย่างหยาบๆ เลย แต่ว่าอันโน้นของเขามันลึกกว่าเยอะจ้ะ

    ถาม : ที่เขาว่า ฟังดูแล้วมันจะขัดกับหลักของกรรม ใช่มั้ยคะ ?

    ตอบ : มันไม่ใช่ขัดกับหลักของกรรม จริงๆ แล้วมันตรงไปตรงมา เพราะว่าบุคคลที่เขามาร่วมพิธี เขาต้องทำกรรมดีมาหรือว่าได้มีส่วนอันนั้นมาร่วมกัน เขาถึงได้มาในพิธีนั้น คนอื่นที่นอกสายไปที่เขาไม่เลื่อมใสในตรงจุดนั้นเขาก็ไม่ได้มาร่วมกัน มันไม่ได้ขัดหรอก มันไปด้วยกันเลยแหละ แต่เพียงแต่ว่าของเราเองลืมมองไป

    ถาม : คือฟังคำอธิบายขัดกับเรื่องของกรรม ก็เหมือนกับช่วยเหลือเกื้อกูล ?

    ตอบ : มันมีอยู่ แต่ว่าลักษณะการช่วยเหลือบอกแล้วต้องขาดน้อย แล้วลักษณะที่ต้องการช่วยนี่ มันก็เหมือนกับว่าเปิดโอกาสให้คนทุกคนได้ แต่ว่าถ้าหากว่าคนนั้นวาระบุญวาระกรรมของเขาไม่ได้ถึงตรงจุดนั้นเขาก็ไม่ได้มาร่วมกัน

    ถาม : ฟังดูเหมือนเกี่ยวเนื่องของการยึดบารมีพระเข้ามาช่วยเหลือ ?

    ตอบ : จริงๆ แล้วคือใช้ตัวเอง คนที่มาร่วมพิธีเขาจะต้องมีการภาวนาในลักษณะนั้น ทำกำลังใจในลักษณะนั้น ในเมื่อการภาวนาลักษณะนั้น ทำกำลังใจลักษณะนั้น ก็คือการเติมส่วนที่ขาดให้กับตัวเองนั่นเอง ถ้าหากเราอยู่ที่บ้านบอกให้เขาทำสิ่งแวดล้อมมันไม่ชวนให้ทำ

    แต่ถ้ามาอยู่ร่วมในพิธีกรรม ซึ่งเขารู้สึกว่ามันขลัง มันศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อมั่นของเขากำลังใจของเขายึดโยงได้ง่าย เขาก็จะทำได้ทำได้ดีด้วย จริงๆ ก็คือตัวของเขาเอง เพียงแต่ว่าพิธีกรรมนั้นเป็นแต่เครื่องโยงเท่านั้นเอง เขาทำของเขาเอง จะไปตะโกนเรียกร้องให้ใครเขาช่วยก็ไม่ได้หรอก นอกจากการแนะนำเฉยๆ อย่าลืมว่าพระพุทธเจ้า ท่านบอกแล้วว่าท่านมีหน้าที่แนะเท่านั้น จะทำหรือไม่ทำอยู่ที่ตัวเรา

    ถาม : เรื่องที่เป่ายันต์เกราะเพชรที่บางวัดเขาจะเป่ายันต์เกราะเพชรให้ ?

    ตอบ : เขาว่าเขาเป็นลูกศิษย์สายหลวงปู่ปาน แต่ถ้าจะไม่เป่าวันเสาร์ ๕ นี่มันเก่งเกินไป ตามสายหลวงพ่อนี่ต้องเป่าเฉพาะวันเสาร์ ๕ เท่านั้น หลวงปู่ปานท่านก็สั่งนักสั่งหนา พระท่านก็สั่งนักหนาว่า ต้องวันนี้เท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้มีหลายสำนักที่ประกาศตัวเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ปานบ้าง เป็นลูกศิษย์สายวัดท่าซุงบ้าง บางวัดสามารถเป่ายันต์ได้ทุกเวลาที่เราไปร้องขอ ตั้งขันครูมา ๒๙๙ บาททำให้เดี๋ยวนั้นเลย เก่งขนาดนั้น อาตมาทำไม่ได้ บางวัดก็เป่าทั้งเสาร์ทั้งอาทิตย์มันเกินไป ตำราครูบาอาจารย์ว่าอย่างไรต้องยึดถือตามนั้น คนนอกครูนอกอาจารย์มันเจริญยาก เอาบ้างมั้ย ? ไปเมื่อไหร่เป่าได้เมื่อนั้น ความจริงเขาเก่ง เราต้องรอ บางทีปีทั้งปีไม่มีเสาร์ ๕ ก็ต้องรอปีต่อไปนะ ของเราสู้เขาไม่ได้ของเขาเก่งกว่า




    สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
    เดือนกันยายน ๒๕๔๔
    ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ




    .
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 2 กรกฎาคม 2008
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...