บันทึกห้องพยาบาล … หนังสือมีเสียง ชินบัญชร …

ในห้อง 'สมเด็จโต พรหมรังสี' ตั้งกระทู้โดย pongio, 12 มิถุนายน 2016.

  1. pongio

    pongio เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 พฤษภาคม 2013
    โพสต์:
    843
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +6,852
    วันเสาร์ ที่ 22 พฤษภาคม 2553
    บันทึกห้องพยาบาล .. หนังสือมีเสียง (ชินบัญชร)
    Posted by วารี , ผู้อ่าน : 601 , 08:09:00 น.
    หมวด : ไดอารี่
    พิมพ์หน้านี้ โหวต 0 คน

    บันทึกห้องพยาบาล … หนังสือมีเสียง ชินบัญชร …


    วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
    เสียงดนตรีเบาๆ ที่คลอเป็น back ground โดยมีเสียงพระสวดทุ้ม นุ่มเป็น foreground ทำให้ฉันคิดถึงหนังสือเล่มนี้ หนังสือมีเสียง (ธรรมคีตา พระคาถาชินบัญชร) หนังสือเล่มนี้จัดทำโดยสนพ. Busy day หน้าปกเป็นสีเหลือง ฉันเห็นหนังสือนี้ครั้งแรกที่ร้านนายอินทร์ สาขาศิริราช ระหว่างที่ไปนั่งรอพ่อตรวจที่รพ.
    บทสวดชินบัญชรฉันได้ยินมามากเหมือนกันว่าเป็นบทสวดที่คนนิยมสวดกัน แล้วฉันเองก็ได้รับ CD มาแผ่นหนึ่งที่ทำเป็นการร้องบทสวดชินบัญชรประกอบดนตรี แต่ว่าเล่มนี้ต่างกัน ตรงที่ยังคงท่วงทำนองการสวดตามแบบเดิม ไม่ได้ดัดแปลงให้เป็นการร้องประกอบดนตรี ผู้เขียนให้เหตุผลว่า เชื่อว่าท่วงทำนองการสวดที่มีมาแต่เดิมน่าจะมีความสำคัญ จึงคงท่วงทำนองไว้เพียงแต่ให้มีเสียงดนตรีคลอเบาๆ ด้วยเท่านั้น ทำให้เกิดความสงบ คล้ายได้สวดอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ดนตรีที่คลอเบาๆ นั้น ผู้จัดทำเป็นนักดนตรีบำบัด (คุณรดิษฐ์ ) ซึ่งทำให้ได้ ๒ ประโยชน์ในคราวเดียว เพราะว่าบทสวดมนต์ โดยเฉพาะบทสวดของศาสนาพุทธ ได้มีวิจัยแล้วว่าทำให้คลื่นสมองผ่อนคลาย (ที่มา นิตยสารขวัญเรือน ฉบับที่ 869 คอลัมน์เปิดใจสนทนา (นพ.พิพันธ์พงศ์ พานิช ภาควิชาสุขภาพและความงาม คณะแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต) เท่ากับว่า ได้อานุภาพของบทสวดมนต์และดนตรีบำบัด เพื่อผ่อนคลายความเครียดให้กับร่างกาย แล้วทุกคำพูดในบทสวดก็ล้วนแต่เป็นคำที่มีความหมายดีๆ ก็เท่ากับเรากำลังอวยพรตัวเองให้พบเจอแต่สิ่งที่ดีๆ ซึ่งจากที่ฉันฟังมาก็รู้สึกถึงความสงบในจิตใจ
    ดนตรีบำบัด ถือเป็นศาสตร์ที่ได้ผลมากในเรื่องการจัดการกับความเครียด โดยมีข้อกำหนดเรื่องความดังของเสียงอยู่ในช่วง ๑๐–๑๒ เฮิร์ทซ์ ไม่ควรเกิน ๒๐ เฮิร์ทช์ ให้เลือกเป็นเสียงเพลงที่ชอบ (ชีวจิต ฉบับที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓)
    เท่าที่ผ่านมา อาจเพราะฉันเคยมีประสบการณ์ดนตรีบำบัด ทั้งกับตัวเอง ทั้งกับคนไข้ที่ดูแล … ทำให้ฉันค่อนข้างจะเชื่อ และเห็นความสำคัญของดนตรีบำบัดมาก

    ……………………
    เมื่อปี ๒๕๓๕ ฉันได้มีโอกาสไปดูงานที่รพ.แห่งหนึ่งในประเทศเกาหลีใต้ ชื่อรพ.นี้รู้จักกันในนาม Jesus hospital ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ Christian Medical Research Center (CMRC) จังหวัด Chonju มณฑล Chonbuk ซึ่งเป็นรพ.ของมิชชันนารีอเมริกาที่มาเผยแพร่ศาสนาในประเทศเกาหลี ได้เปิดให้บริการ ช่วงที่ฉันไปดูงานเป็นช่วง ๓ เดือนสุดท้ายก่อนที่จะเปลี่ยนมือผู้บริหารจาก Dr.David John Seel ชาวอเมริกา เป็น Dr. Eung ung Lee ซึ่งเป็นคนเกาหลี เท่ากับว่ายกรพ.นี้คืนกลับให้กับชาวเกาหลีเป็นผู้บริหารจัดการทั้งหมด ความจริงฉันไปดูงานในส่วนของงานด้านเคมีบำบัดกับการรักษาโรคมะเร็ง เนื่องจากโรงพยาบาลนี้ค่อนข้างดังในเรื่องของมะเร็ง แต่เพราะเวลาเยอะก็เลยแวะไปดูงานที่อื่นๆ ด้วย หนึ่งในหน่วยงานอื่นๆ ที่ฉันไปดูงานคือ ห้องรังสีรักษา
    เมื่อพูดถึงห้องรังสีรักษา ในความจำของฉัน สมัยเด็กเคยเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เหตุเพราะความคิด (แบบเด็กๆ) ที่ว่าการขออนุญาตไปห้องน้ำเป็นเรื่องน่าอาย ก็เลยกลั้นค่ะ ทีนี้มันก็เลยเป็นมากขนาดว่าปัสสาวะไม่ได้เอาเลยแหละ ปวดมาก เหมือนจะมีปัสสาวะเป็นเลือดด้วย ก็เลยต้องไปตรวจ จำได้ว่า มีเจ้าหน้าที่พาไปห้องถ่ายเอกซเรย์ เป็นห้องกว้างๆ ผนังเป็นโลหะ บรรยากาศดูเย็นๆ อับๆ เขาพาฉันให้ไปนอนบนเตียงแคบๆ แล้วปล่อยเราอยู่คนเดียว (อ้อ ก่อนจะทิ้งเราไปก็ฉีดยาอะไรสักอย่างลงในหลอดเลือดแถวๆ ข้อมือ ฉันดิ้นเสียเตียงกระจายไปเลยกว่าจะฉีดได้) เหมือนจะอยู่ในห้องนั้นนานมาก เจ้าหน้าที่หนีหายไปหมด เหลืออยู่คนหนึ่งที่อยู่ในห้องเล็กๆ ติดกับห้องเรา พอให้เห็นหน้า (คงจะเป็นห้องควบคุมเครื่อง เพราะได้ยินเสียงสั่งเป็นระยะให้ทำตาม) แต่ความที่เขาหนีไปอยู่ในห้องเล็กทิ้งเราไว้ในห้องใหญ่ ก็เลยทำให้ห้องใหญ่นั้นยิ่งดูน่ากลัวขึ้นอีก กว่าจะเสร็จฉันรู้สึกว่านานราวชั่วกัลป์เลยเชียว พึ่งมารู้ภายหลังเมื่อฉันเข้ามาเรียนพยาบาลแล้วว่า เขาพาฉันไปทำ IVP หมายถึง การฉายเอกซเรย์ดูการไหลเวียนของหลอดเลือดไปที่ท่อไต เพื่อดูว่ามีก้อนนิ่วหรือสิ่งผิดปกติกีดขวางหรือเปล่า ถึงทำให้ปัสสาวะไม่ได้ และปัสสาวะมีเลือดปน ผล ไม่มีค่ะ เป็นเพราะกลั้นปัสสาวะอย่างเดียวเอง
    พอมาทำงานพยาบาล ฉันแค่เคยเฉียดเห็นห้องรังสีรักษาใกล้ๆ ตอนเรียน มาทำความรู้จักมันจริงจังก็ตอนที่คนไข้รายหนึ่งที่ฉันต้องดูแล (คือ เธอเป็นภรรยาของอดีตหัวหน้าของคนที่บ้านน่ะ) เธอเป็นมะเร็งมดลูกระยะสุดท้ายรักษาด้วยการฉายแสง และฝังแร่ ตอนไปฉายแสงน่ะฉันได้แค่ไปส่งหน้าห้อง แต่ตอนที่ไปฝังแร่น่ะฉันเข้าไปคุยเป็นเพื่อน บรรยากาศห้องมันเย็นๆ ชื้นๆ อับๆ คล้ายมีกลิ่นแร่กระจายอยู่ในห้อง คนไข้ต้องนอนเพียงลำพังในห้องนั้นเหมือนจะ ๗๒ ชม.ได้มั้ง ฉันได้เข้าไปดูแลแค่ตอนกินข้าวเท่านั้น ตอนอื่นๆ ที่ต้องรักษาแม่ก็ต้องอยู่เพียงลำพัง ฉันถามแม่ (หมายถึงคนไข้ที่ฉันดูแล) ว่า เจ็บมั้ย แม่ส่ายหน้า แต่สีหน้าแม่ดูหดหู่ ซึมเศร้ายังไงไม่รู้นะ ความจริงแม่น่ะเป็นพยาบาลเหมือนกันนะ แต่ฉันว่าแม่เองก็คงรู้สึกกลัวๆ เหมือนกัน
    เหตุที่ฉันเลือกไปดูงานห้องรังสีรักษา ที่ Chonju ก็เพราะฉันอยากรู้ว่าสภาพที่คนไข้ฉันต้องเจอเวลาไปห้องรังสีรักษาน่ะเป็นยังไง แล้ววิธีการรักษาของรังสีรักษาน่ะเป็นอย่างไร ก็ตอนอยู่ที่รพ.ฉันไม่มีโอกาสรู้วิธีการรักษาของทางรังสีนี่ก็เลยอยากรู้ เผื่อจะได้ใช้ประโยชน์ (ไว้ช่วยแนะนำคนไข้ที่ตึกที่ต้องส่งไปรักษา) ก็คาดเดาไว้ในใจนะว่าบรรยากาศน่าจะเหมือนกันแหละ แต่ปรากฏว่า ผิดคาด ห้องรังสีรักษาที่รพ.แห่งนั้นอยู่ชั้นใต้สุดของตึก เหมือนจะลงไปใต้ดิน ๑ ชั้น ยังจำได้ว่าต้องเดินลงทางลาดไป แต่แปลกห้องรังสีรักษากลับไม่มืด ไม่น่ากลัวอย่างที่ฉันคิด ผนังตึกสีขาว ไฟเปิดจ้า เสียงเจ้าหน้าที่คุยกันแว่วๆ มา ฉันตามประกบติดคุณหมอไปคุยกับคนไข้ จำได้ว่าคนไข้รายนั้นมาทำ Heat หมายถึง อบผิวหนังด้วยความร้อนเพื่อเตรียมผิวหนังนั้นสำหรับการฉายแสง อุณหภูมิที่ใช้อบผิวหนังประมาณ ๔๐–๖๐ องศา พอคนไข้ขึ้นบนเตียงก็เห็นคนไข้ยื่นตลับเทปให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งรับไปเปิดให้ฟัง เสียงที่ดังออกมาจากเทปเป็นเสียงดนตรี ท่วงทำนองคล้ายบทสวด คุณหมออธิบายให้ฟังว่า ที่ห้องนี้จะอนุญาตให้คนไข้นำบทเพลง หรือเทปอะไรก็ได้ที่อยากฟังมาเปิดได้ ถ้าไม่มีทางเจ้าหน้าที่ก็เปิดให้ ตอนนั้นแหละที่ฉันพึ่งรู้สึกว่าใช่แล้ว ห้องรังสีรักษาที่นี่ต่างจากที่อื่นตรงที่มีเสียงเพลงดังเบาๆ คลออยู่ตลอด คุณหมอหันไปคุยกับคนไข้สักครู่ ก่อนที่จะพาฉันเดินออกมา ฉันเหลียวกลับไปดูคนไข้ก็เห็นนอนหลับตาพริ้ม ปากงึมงำราวกับร้องหรือสวดตามเสียงที่ได้ยิน ไม่มีทีท่าว่าจะหวาดกลัว หรือร้อนเลย ทั้งที่อุณหภูมิขนาดนั้นนาบอยู่บนผิวนี่นะ …..
    ตอนที่ฉันป่วยด้วยโรคหน้าเกร็ง (Blepharospasm) เนื่องจากเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อหน้าทำงานผิดปกติ เมื่อสั่งให้หน้าเกร็งแล้วไม่คลายกลับ (ประมาณว่ายิ้มค้าง) พอกะพริบตาตาก็ปิดแน่น ลืมไม่ได้ เพราะโรคฉันรักษาด้วยแผนปัจจุบันไม่หาย ฉันก็เลยตระเวน Hospital tour หมายถึง แสวงหาที่รักษาไปเรื่อย มีครั้งหนึ่งฉันไปรับการรักษาด้วย ไคโรแพรคติค ที่ตึกอะไรน้า สีลมอะไรสักอย่างนี่ละ จำได้แต่ว่าต้องนั่งรถไฟฟ้าไป ระหว่างทางที่นั่งรถไป หน้าก็เกร็งตายิบหยีตามการกะพริบตา ลงจากรถไฟฟ้าก็ต้องมะงุมมะงาหราเดินตามจังหวะการหลับตา คือ ตาปิดทีก็หยุด ตาเปิดค่อยเดินใหม่ ตอนนั้นฉันรู้สึกแย่มากแต่ก็พยายามคิดว่าดี ตอนพบหมอ (หมายถึงคนรักษา) เขาจะได้เห็นอาการชัดๆ งัย แต่ปรากฏว่าทันทีที่ฉันเปิดประตู ก้าวเท้าเข้าห้องเท่านั้น อาการกลับหยุดสนิทราวกับปิดสวิทช์ซะงั้น กะพริบตากี่ทีกี่ทีก็ไม่มีอาการยังกับแกล้งแน่ะ ตอนที่คุยกับหมอที่ตรวจ ฉันก็ได้แต่เล่าอาการให้ฟัง แต่เขาก็ให้การรักษานะคงเห็น รอยของโรค แหละ (คนที่มีอาการหน้าเกร็งเกินปกติ ร่องรอยที่พอจะพบคือการเกร็งของกล้ามเนื้อที่เป็นรอยพับค้าง คนทั่วไปที่ไม่สังเกตหรือแม้แต่ฉันคงมองไม่ออกหรอก แต่มืออาชีพอย่างหมอเฉพาะทางเนี่ยคงเห็น) พอตรวจเสร็จมานั่งรอนัดน่ะแหละถึงได้สังเกตว่า ที่ห้องน่ะจะเปิดเสียงเพลงบรรเลงเบาๆ ไว้ เบาเหมือนเสียงกระซิบเลย ทีนี้พอก้าวเท้าออกจากห้อง ประตูปิดฉึบ อาการก็กลับมาทันควัน เฮ้อ
    ในระหว่างการแสวงหาทางรักษา จนกระทั่งหายขาดได้ในที่สุดน่ะ ฉันพบว่า อาการของโรคที่ฉันเป็นจะกำเริบมากในสภาวะที่มีความเครียด ความเครียดที่ว่าไม่จำเป็นว่าเราต้องเป็นคนสร้างขึ้น เช่น เรากำลังโกรธ กำลังเสียใจ กำลังดีใจ ง่วงนอน หรือนอนมากเกินไป เป็นต้น แค่ บรรยากาศที่เครียด ก็จะทำให้ฉันมีอาการหนัก ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ห้องพยาบาลที่ฉันทำงานน่ะมี ๓ โรงงาน ห้องพยาบาลหนึ่งเป็นห้องที่มาตรฐาน คนไข้ก็น้อย (ไม่เกิน 30 คนต่อ 24 ชม.) แต่ที่ห้องพยาบาลนี้น่ะอาการฉันกลับเป็นเยอะ เหตุเพราะที่นี่กฎระเบียบของห้องพยาบาลค่อนข้างเข้มงวด (เหมือนสภาพในรพ.เปี๊ยบ) มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นแต่ละครั้งมักจะเรื่องใหญ่ ทั้งเป็นเยอะ หมายถึง เจ็บรุนแรง ทั้งเรื่องเยอะ คือ ห้องพยาบาลต้องเข้าไปเกี่ยว เขียนรายงานเพียบเลย คงเพราะว่าถ้ามีคนไข้หนักๆ จะมีเรื่องให้ต้องแก้ไขมากมาย คนทำงาน (หมายถึงพยาบาล) ก็เลยทำงานด้วยความเครียดลึกๆ ในใจ ในขณะที่อีกห้องพยาบาลหนึ่ง สภาพห้องพยาบาลเป็นแค่ซอกเล็กๆ อยู่ข้างทางก่อนที่จะถึงห้องน้ำ มีพนักงานเดินไปมาเข้าห้องน้ำผ่านหน้าห้องพยาบาลกันขวักไขว่ เสียงพูดคุย เสียงเครื่องเย็บผ้า กลิ่นห้องน้ำกระจายตลอด ร้อน ฝุ่นเยอะ คนไข้เยอะ บางครั้งมากถึง 40 คนต่อ 8 ชม.ในบางวัน (ก็ประมาณว่า เดินจะมาห้องน้ำ ผ่านหน้าห้องพยาบาล แวะสักนิดขอยาสักหน่อยก็ดี) แต่แปลกอาการของฉันกลับดี แทบไม่มีอาการเลยด้วยซ้ำ คนไข้ของห้องพยาบาลนี้เยอะก็จริง แต่มักจะเป็นด้วยเรื่องเล็กน้อย ท้องเสีย เป็นหวัด ผื่นแพ้ ปวดประจำเดือน ขอยาคุม อุบัติเหตุก็จะมีแค่เข็มตำ แผลเล็กๆ เท่านั้น แทบไม่มีอุบัติเหตุใหญ่ๆ เลย งานห้องพยาบาลก็ไม่ซับซ้อน ไม่ยุ่งยาก บรรยากาศของที่ทำงานก็เลยไม่เครียด ก่อนที่ฉันจะป่วยน่ะฉันไม่เคยรู้สึกเลยว่าห้องพยาบาล ๒ ห้องนี้ต่างกัน จนกระทั่งฉันป่วย อาการที่ฉันเป็นน่ะแหละกลายเป็น “เครื่องมือวัดความเครียด” ที่มีประสิทธิภาพมาก


    ผ้าขาวเมื่ออยู่ท่ามกลางผ้าขาวด้วยกัน แม้จะขาวต่างกัน แต่ก็จะมองไม่เห็นความต่างชัดเจน
    แต่ถ้า … ผ้าขาว (ผืนเดิม) วางอยู่ท่ามกลางผ้าดำ แม้จะขาวหม่น แต่ก็จะขาววับขึ้นถนัดตา


    ความเครียด มีผลกับความเจ็บป่วยได้ทุกโรค ไม่เว้นแม้แต่โรคเล็กๆ อย่างหวัด เพราะความเครียด ไม่ได้หมายถึงแค่งานหนัก หงุดหงิด อารมณ์บ่จอย เท่านั้น สภาวะที่เราพักผ่อนไม่พอ นอนมากเกิน จิตใจร่าเริงเกิน หรือแม้แต่มีประจำเดือน ก็ถือเป็นภาวะเครียดเช่นกัน ในภาวะเครียดกลไกของร่างกายในการดูแลให้สภาพร่างกายอยู่ในสภาวะสมดุล ทำงานได้เป็นปกติ ดูแลในการกำจัดเชื้อโรค กำจัดสารพิษ (ทั้งจากร่างกายและจิตใจ) ก็จะทำงานได้ไม่เป็นปกติ พอนานวันเข้าก็จะสะสมจนเป็นโรคใดโรคหนึ่ง ซึ่งของฉันก็คือโรคหน้าเกร็งนี่ละ เมื่อฉันจัดสมดุลให้ชีวิต กลไกร่างกายฟื้นคืน ฉันถึงได้หายจากโรค โรคที่แพทย์แผนปัจจุบันว่ารักษาไม่หายนี่ละ
    หนังสือมีเสียงเล่มนี้ เสียงดนตรีบำบัดพร้อมกับเสียงสวดมนต์ น่าจะตอบโจทก์เรื่องความเครียดได้อย่างสมบูรณ์
    นอกจากความสงบที่เราจะได้รับจากซีดีที่แนบมาในหนังสือแล้ว เนื้อหาในหนังสือก็จะเป็นเกร็ดประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ซึ่งเป็นผู้เผยแพร่บทสวดบทนี้ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ได้อ่านถึงแก่นธรรมที่มีสอดแทรกอยู่ในเนื้อหาอีกด้วย
    ……………
    ตั้งแต่ได้หนังสือเล่มนี้มา ฉันก็มักจะเปิดฟังเป็นระยะทั้งเช้าและเย็น เคยมีครั้งหนึ่งที่ฉันคิดงานไม่ออก วนไปวนมาอยู่เป็นนาน จนรู้สึกว่าช่างเถอะ ก็เลยลุกไปเปิดซีดีฟัง ฟังไปเดินทำงานอื่นๆ ไป ปรากฏว่า งานที่ติดอยู่ในหัวกลับคิดออกซะงั้น แล้วก็น่าแปลกนะทุกครั้งที่ฉันขึ้นทำงาน เปิดซีดีฟัง เหตุการณ์ในห้องพยาบาลมักจะราบรื่น แม้จะมีอุบัติเหตุร้ายแรงบ้าง แต่ฉันก็มักจะสังหรณ์รู้ เตรียมตัวได้ล่วงหน้าเสมอ แทบจะคาดเดาคนไข้ได้ล่วงหน้าก่อนที่คนไข้จะมาเลยละ บางทีถึงขนาดว่าเตรียมยา เตรียมอุปกรณ์ไว้โดยไม่มีสาเหตุ แล้วก็ได้ใช้ทุกทีไป


    ปล. ถ้าใครสนใจหนังสือเล่มนี้ และหาไม่ได้ตามร้านหนังสือทั่วไป (เพราะพิมพ์ออกมาได้กว่า ๒ ปีแล้ว)
    ก็คงจะต้องติดต่อที่สนพ. Busyday หรือที่โทร.๐๒ - ๑๙๖๒๔๑๑–๔
    อ้อ ฉันไม่ได้ค่าโฆษณาหรอกนะขอบอก แต่ถ้าจะสมนาคุณ ขอแค่ซีดีราคาพิเศษอีกสัก ๒-๓ แผ่นก็ดีนะ ฮิ ฮิ

    http://www.oknation.net/blog/nsdiary/2010/05/22/entry-2
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 12 มิถุนายน 2016

แชร์หน้านี้

Loading...