ปฏิบัติธรรมแล้วไม่ก้าวหน้า จะแก้ไขอย่างไร ?

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย tamsak, 16 มิถุนายน 2008.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. tamsak

    tamsak ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กันยายน 2004
    โพสต์:
    7,857
    กระทู้เรื่องเด่น:
    22
    ค่าพลัง:
    +161,177
    ถาม : มีเพื่อนที่ได้ทำการปฏิบัติธรรมแล้วเขามีความรู้สึกว่า การปฏิบัติธรรมของเขาไม่ก้าวหน้าไปไหนเลย พอปฏิบัติธรรมแล้วก็เหมือนกับอยู่กับที่ เขาได้พยายามทำสมาธิเองอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ไม่ก้าวหน้าขึ้น พอจะมีข้อแนะนำในการปฏิบัติธรรมให้เขามีความก้าวหน้าบ้างมั้ยคะ ?

    ตอบ : ลักษณะการปฏิบัติแล้วไม่ก้าวหน้ามันประกอบด้วยสาเหตุอยู่ ๓ ลักษณะด้วยกัน อย่างแรก ทำเกิน อย่างที่ ๒ ทำขาด ถ้าทำพอดีก้าวหน้าทุกคน ทำเกินก็คือเคร่งเครียดจนเกินไป สภาพร่างกายมันไปไม่ไหว ทำขาดก็คือ ขี้เกียจจนเกินไป มันก็เลยไม่ก้าวหน้าด้วย

    เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องทำให้พอดีถึงจะก้าวหน้า ตัวพอดีพระพุทธเจ้าตรัสว่า มัชฌิมาปฏิปทา คราวนี้คำว่ามัชฌิมา พอดีตรงกลางนี่ไม่มีอัตราตายตัวว่า ๕๐% เป๊ะ มันจะขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและจิตใจของเราที่ได้รับการฝึกมา

    ดังนั้นว่าของคนผู้หนึ่งมัชฌิมาปฏิปทาของเขาอาจจะนั่งตลอด ๓ วัน ๓ คืนเลย แต่ว่าของเราเอง ๓๐ นาทีก็แย่แล้ว ดังนั้นการปฏิบัติแรกเริ่มถ้าหากว่าเราภาวนาแล้วรู้สึกว่ามันไม่ไหวแล้วอย่าเพิ่งเชื่อมัน ให้ลองฝืนดูนิิดหน่อย ถ้าฝืนแล้วไปต่อได้ก็โอเค นี่โกหกแน่เมื่อกี้นี้แสดงว่าเป็นตัวถีนมิทธะนิวรณ์ มาหลอกให้เราขี้เกียจ

    ถ้าหากว่าฝืนแล้วไปต่อได้ก็ควรจะตั้งเวลาไว้สักครึ่งชั่วโมงหรือว่าไม่เกิน ๑ ชั่วโมงแล้วพัก ถ้ามากเกินไปกว่านั้นบางทีมันเป็นการทรมานตัวเองมากเกินไป ยกเว้นบางท่านที่ต้องการดูเวทนา ต้องการจะแยกจิตแยกกายดูว่าอาการของมันเป็นอย่างไร อย่างนั้นเขานั่งกันข้ามวันข้ามคืน นั่งกันจนก้นแตกกันไปข้างหนึ่ง

    อีกอย่างหนึ่งที่ปฏิบัติไปแล้วไม่ก้าวหน้าก็คือ บางทีจะเน้นแต่สมาธิอย่างเดียว ตัวสมาธิกับตัวปัญญามันเหมือนกับคนที่ผูกขา ๒ ข้างด้วยโซ่เส้นหนึ่ง ถ้าหากว่าสมาธิไปแล้วปัญญาไม่ตามมันก็เหมือนกับเดินไปสุดแล้วโซ่มันกระตุกกลับ ดังนั้นเมื่อภาวนาจนอารมณ์เต็มแล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเต็มที่ ก็มันถึงจุดสุดแล้วไม่สามารถไปต่อแล้วอารมณ์มันจะคลายออกมา

    ตอนอารมณ์มันคลายออกมาสำคัญที่สุด ถ้าหากว่าเราไม่บังคับให้มันคิดในสิ่งที่ดีๆ มันก็จะคิดไปในทางรัก โลภ โกรธ หลง พาเราฟุ้งซ่านไปเลย เพราะฉะนั้นเมื่อมันถอยออกมา เราก็ให้คิดในวิปัสสนาญาณ คือให้คิดพิจารณาให้เห็นในความเป็นจริงว่า สภาพร่างกายก็ดี โลกเราก็ดี มันประกอบไปด้วยไตรลักษณ์ คือความเป็นจริง ๓ อย่าง ว่า ๑. มันไม่เที่ยง ๒. มันเป็นทุกข์ ๓. มันไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายเป็นตัวตนเขาเราได้ หรือไม่ก็พิจารณาตามแนวอริยสัจ อริยสัจนี่จับแค่ทุกข์กับเหตุของการเกิดทุกข์เท่านั้น ถ้าเรารู้ว่าทุกข์เกิดจากอะไรแล้วไม่สร้างเหตุนั้นทุกข์ก็ดับ ถ้าทุกข์ดับให้เรียกว่า นิโรธ ระหว่างที่เราปฏิบัติเขาเรียกว่า มรรค คือหนทางเข้าถึงการดับทุกข์

    เพราะฉะนั้นว่าเราจับแค่ทุกข์กับสมุทัย ๒ ตัวเท่านั้น หรือไม่ก็พิจารณาตามแบบของวิปัสสนาญาณ ๙ คือ พิจารณาให้เห็นอย่างเช่น อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นการเกิดแล้วดับ ภังคานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นว่าทุกอย่างดับหมด ภยตูปัฏฐานญาณพิจารณาให้เห็นว่าร่างกายนี้มันเป็นโทษเป็นภัยเป็นของน่ากลัว จนกระทั่งไปถึงสังขารุเบกขาญาณ คือการปล่อยวางในสังขารทั้งปวง และสัจจานุโลมิกญาณ คือพิจารณาย้อนต้นทวนปลาย ทวนปลายย้อนต้นกลับไปกลับมาให้พิจารณาอยู่ในลักษณะนี้

    การพิจารณามีประโยชน์มากตรงที่ว่า เมื่อจิตมีงานทำไม่ฟุ้งซ่าน ปัญญาจับเฉพาะหน้า สติดำนินตามไป จิตมันจะดิ่งกลับไปเป็นสมาธิอีกระดับหนึ่งพอมันเป็สมาธิถึงระดับนั้นปุ๊บ เราภาวนาต่อเลย มันก็จะทรงตัว ก้าวล่วงลึกเข้าไปอีกระดับ แต่ว่าพอก้าวไปถึงจุดตันมันจะถอยมาอีกทีหนึ่ง ก็ตอนนี้ปัญญาเดินหน้า พอถึงจุดตันโซ่มันติดแล้วมันจะกระตุกขากลับ เราก็ก้าวไปอีกต่อ คือภาวนา เมื่อภาวนาไปถึงเต็มที่คราวนี้มันจะกระตุกกลับอีกแล้ว เราก็พิจารณาต่อไป ถ้าทำดังนี้ได้จะก้าวหน้า

    ถ้าหากว่าเว้นไปจากเรื่องทั้งหลายเหล่านี้แล้ว บางทีทำเท่าไหร่มันไปตัน ก็โดนกระตุกกลับ ไปตันก็โดนกระตุกกลับ มันก็เลยไม่ก้าวหน้า ให้เขาพิจารณาด้วยว่า ตัวเองทำแล้วเหตุที่ไม่ก้าวหน้าเกิดจากเหตุอะไร แล้วแก้ไข

    ถาม : แล้วอย่างที่ตัวของตัวเองเวลาถึงจุดสมาธิเข้าช่วงที่จะกระตุกกลับ ของตัวเองนี่ในลักษณะเดินสมาธิพิจารณาสังขารนี่ทุกข์ อันนี้ไม่ทราบว่าจะพอใช้ไ้ด้มั้ยคะ ?

    ตอบ : ก็ถ้าหากว่าสภาพจิตมันยอมรับว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเราจริงก็ใช้ได้ แต่ว่าการปฏิบัติในลักษณะของการภาวนา หรือว่าพิจารณาก็ตามต้องย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่หัวข้อเดียว ห้ามเบื่อเด็ดขาดจนกว่ามันจะตัดกันไปข้างหนึ่งหรือยอมรับกันไปข้างหนึ่งเลย ถ้าหากว่าเราเบื่อเสียก่อนที่มันจะยอมรับนี่เราแพ้เขา ตรงจุดนั้นจะไม่ก้าวหน้าถึงที่สุด ซ้ำแล้วซ้ำอีก ย้ำแล้วย้ำอีกห้ามเบื่อเด็ดขาดจนกว่าจะชนะกันไปข้างหนึ่ง

    ถาม : ทีนี้ขั้นตอนแล้วก็ลำดับในการทำสมาธิที่บอกว่า เริ่มจากที่จิตไม่สงบฟุ้งซ่านแล้วเข้าสู่การทำสมาธิในแต่ละขั้นตอนเขามีชื่อบอกในแต่ละขั้นอย่างไรบ้างคะ ?

    ตอบ : จะเริ่มจากตัวขณิกสมาธิ คือเริ่มจากสมาธิเล็กน้อย ต่อไปอุปจารสมาธิ ใกล้จะเป็นสมาธิแล้วใกล้ฌาน แล้วก็อัปนาสมาธิแปลว่า สมาธิแนบแน่น ก็เริ่มจากปฐมฌาน คือความเคยชินขั้นที่ ๑ ทุติยฌานคือความเคยชินขั้นที่ ๒ ตติยฌาน คือความเคยชินขั้นที่ ๓ จตุตถฌาน ความเคยชินขั้นที่ ๔

    แล้วหลังจากนั้นถ้าเราทำอรูปฌานต่อ ก็จะเป็นอากาสานัญจายตนฌาน คือการละรูปไปพิจารณาอากาศ วิญญานัญจายตนฌาน คือการละจากรูปไปพิจารณาวิญญาณ อากิญจัญญายตนฌาน คือการละจากรูปไปพิจารณาความไม่มีอะไรเหลือเลย แล้วก็เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน คือการละจากรูปไปไม่จับทั้งการมีสัญญาหรือไม่มีสัญญา รวมแล้วจะเป็นเรียกว่า สมาบัติ ๘ คือการเข้าถึง ๘ ขั้นตอน

    คราวนี้มันจะมีพิเศษว่า ถ้ากำลังของเราสูงกว่านั้นสามารถเข้าถึงระดับอนาคามีและทรงสมาบัติ ๘ เป็นปฏิสัมภิทาญาณ เราจะได้อีก ๒ สมาบัิติ เรียกว่า สัญญาเวทยิตนิโรธ หรือเรียกง่ายๆ ว่า นิโรธสมาบัติ

    ถาม : แล้วเป็นยังไงคะ ?

    ตอบ : อธิบายยาก นิโรธสมาบัติจะเป็นลักษณะของการที่จิตของเราจับนิ่งอยู่เฉพาะที่ อาจจะเป็นที่พระนิพพานอยู่ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือว่าเคลื่อนอยู่ตามภพภูมิต่างๆ ก็ได้แล้วแต่เราต้องการ แต่ว่าทั้ง ๒ สภาพนั้นตามที่ว่านั้นจิตจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับกายแม้แต่นิดเดียว สัญญาเวทยิตนิโรธ แปลว่าการดับเสียซึ่งสัญญาและเวทนาทั้งปวง เหมือนกับคนตายดีๆ นี่เอง เขาว่ากันทีหนึ่ง ๗ วัน ๑๕ วัน ความจริงจะมากเกินกว่านั้นก็ได้ เพราะกำลังมันพอ พระพุทธเจ้าไม่แนะนำให้ทำเนื่องจากว่าร่างกายที่อดอาหารนานๆ มันจะฟื้นคืนได้ยาก ยิ่งอายุมากๆ อาจจะป๊อกไปเลย




    สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
    เดือนกันยายน ๒๕๔๔
    ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ




    .
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 30 กันยายน 2013
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...