พระราชทานรางวัล เจ้าฟ้ามหิดลปี52

ในห้อง 'ข่าวในพระราชสำนัก' ตั้งกระทู้โดย paang, 30 มกราคม 2010.

  1. paang

    paang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 เมษายน 2005
    โพสต์:
    9,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +34,328
    แก่"ศ.แอนน์มิลล์" นพ.วิวัฒน์-นายมีชัย



    [​IMG]


    พระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2552 “ศ.แอนน์ มิลล์” จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ได้รับในสาขาการแพทย์ นพ. วิวัฒน์ โรจนพิทยากร” และ “มีชัย วีระไวทยะ” ได้รับในสาขาการสาธารณสุข ด้าน “ศ.แอนน์ มิลล์” แนะการแพทย์แบบเมดิคอลทัวริสซึ่มของไทย ควรระวังจะทำให้ระบบสาธารณสุขอ่อนแอ สังคมชนบทจะได้รับการดูแลไม่ทั่วถึง “หมอวิวัฒน์-มีชัย” ชี้จำเป็นต้องรณรงค์ให้คนเห็นความสำคัญโรคเอดส์ เน้นกลุ่มขายบริการเยาวชน ชี้หญิงในครอบครัว-ชายรักชาย เป้นกลุ่มเสี่ยงอันตราย

    เมื่อเวลา 17.28 น. วันที่ 27 ม.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ ไปพระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 18 ประจำปี 2552 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง โดยในปีนี้ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ.แอนน์ มิลล์ จากมหา วิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร ผู้มีบทบาทนำความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและคลังสุขภาพมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบสุขภาพของโลก

    รางวัลสาขาการสาธารณสุข ได้แก่ นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศมองโกเลีย อดีต ผอ.ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ กระทรวงสาธารณสุข ผู้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย 100% ช่วยลดการแพร่กระจายของโรคเอดส์ลงอย่างมาก และนายมีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งและนายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ผู้พัฒนา การสื่อสารและการรณรงค์การป้องกันโรคเอดส์อย่างได้ผลในประเทศไทยและในต่างประเทศ จากนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้พระราชทานพระดำรัสแสดงความชื่นชมและยินดีแก่ผู้เข้ารับพระราชทานรางวัลทั้ง 3 ท่าน ก่อนมีพระปฏิสันถารตามพระราชอัธยาศัย

    ทั้งนี้ก่อนเข้ารับพระราชทานรางวัล ศ.แอนน์ มิลล์ เผยว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้รับพระราชทานรางวัลนี้ ซึ่งตนยังเป็นผู้หญิงชาวอังกฤษคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ นโยบายเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและคลังสุขภาพนับว่าเป็นเรื่องใหม่ แต่การนำกลไกทางเศรษฐศาสตร์มาปรับใช้ถือเป็นสภาวะโรคใดโรคหนึ่ง ที่มีการรักษาหลายวิธี หากนำหลักเศรษฐศาสตร์มาคำนวณ จะช่วยด้านการรักษาที่คุ้มค่าไม่เปลืองทรัพยากร ส่วนการแพทย์แบบเมดิคอล ทัวริสซึ่มของประเทศไทย ที่ใช้ระบบการรักษาพยาบาลดึงดูดชาวต่างชาติเข้ามานั้น ตนมีความเห็นว่าควรดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจก่อให้เกิดความอ่อนแอต่อระบบสาธารณสุข หากโรงพยาบาลจะหารายได้หรือผลกำไร การให้บริการเปลี่ยนแปลงไปสู่การค้ามากขึ้น ชนบทจะได้รับการดูแลด้านสาธารณสุขไม่ทั่วถึง

    นพ.วิวัฒน์ กล่าวว่า รางวัลอันทรง เกียรตินี้ได้มาจากผลงานโครงการถุงยางอนามัย 100% ซึ่งผ่านมา 20 ปีแล้ว ช่วงแรกทำงานด้วยความยากลำบากมาก โดยเริ่มรณรงค์แก่กลุ่มหญิงบริการทางเพศ ที่มีความเสี่ยงสูงก่อน หลังจาก 6-7 ปีต่อมา ประเมินผลแล้วพบว่า ผู้ติดเชื้อเอดส์ลดลง 2 ล้านคน และ 15 ปีต่อมาลดลง 5 ล้านคน จนปัจจุบันลดลงรวม 7 ล้านคน ซึ่งโครงการได้รับการยอมรับและรัฐบาลประเทศต่าง ๆ รับไปเป็นนโยบายแห่งชาติ อาทิ กัมพูชา, พม่า, จีน, มองโกเลีย, ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ปัจจุบันกลุ่มผู้หญิงในครอบครัว เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้น เพราะไม่ได้ระมัดระวังป้องกันจากสามี รวมถึงกลุ่มชายรักชายมีอัตราสูงเช่นกัน

    นายมีชัย กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนโครงการที่ทำมาคงไม่มีอะไรใหม่ เพียงต้องมาปรับใช้ให้ดียิ่งขึ้น ปัจจุบันเยาวชนติดเชื้อเอดส์มากเพราะผู้ปกครองไม่อยากให้ลูกรู้จักเรื่องเพศเรื่องถุงยางอนามัย เราจึงควรส่งเสริม เรื่องเพศศึกษาแก่เยาวชนในเวลาที่เหมาะสมเรียนรู้การป้องกันตนเอง เพราะโรคเอดส์ไม่สามารถมองออกได้ทันที นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาท กำหนดการออกแบบถุงยางเองว่า ชอบสี หรือกลิ่นแบบใดมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าอายเพราะ ที่ผ่านมาผู้หญิงจะเป็นฝ่ายถูกกำหนดเรื่องเพศโดยผู้ชายมาตลอด

    ต่อมาเวลา 20.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯแทนพระองค์ ในการพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำเป็นเกียรติแก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล พร้อมคู่สมรส ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร พระบรมมหาราชวัง.


    ที่มาเดลินิวส์ออนไลน์
     

แชร์หน้านี้

Loading...