รับน้องหรือรับใคร

ในห้อง 'จิตวิทยา & สุขภาพ' ตั้งกระทู้โดย PalmPlamnaraks, 26 มิถุนายน 2005.

  1. PalmPlamnaraks

    PalmPlamnaraks เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 มกราคม 2005
    โพสต์:
    764
    ค่าพลัง:
    +5,790
    รับน้องหรือรับใคร

    ดุลยภาพ ดุลยพินิจ โดย นวพร เรืองสกุล มติชนรายวัน วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9965

    การรับน้องใหม่เป็นความคิดที่ดีงาม และถ้าแปรเป็นการกระทำด้วยความตั้งใจอันดีย่อมได้ผลที่น่าชื่นใจ ทั้งสำหรับรุ่นพี่ รุ่นน้อง และสถาบันนั้นๆ ด้วย

    แต่การรับน้องใหม่ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของเรามีปัญหาเป็นข่าวทุกปี

    เมื่อเป็นข่าวก็แปลว่าข่าวร้าย

    ข่าวรับน้องใหม่แบบก่ำกึ่งเป็นกิจกรรมลามก สัปดน หรือวิตถาร มีให้อ่านในหน้าหนังสือพิมพ์ และยังมีที่เล่าๆ กันแบบปากต่อปาก

    คนในท้องถิ่นที่นักศึกษานิยมไปพักแรมทำกิจกรรม เล่าว่าบางทีมีการเอาเหล้ากรอกปาก นักศึกษาคนหนึ่งเล่าว่ากิจกรรมหนึ่งที่เขาเจอเข้ากับตนเองคือ ให้เข้าแถวแล้วสีฟันด้วยน้ำบ้วนปากขันเดียวกันที่ส่งต่อๆ กันมาจากหัวแถว

    แน่นอนที่ว่า รุ่นพี่อยู่หัวแถว

    ข่าวต่างๆ ที่ออกมา มักไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่จริง

    แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่า นั่นเป็นส่วนใหญ่ หรือส่วนน้อย หรือเป็นกรณีผิดปกติเพียงแห่งหรือสองแห่ง ในบางคณะบางกลุ่มเท่านั้น

    ไม่มีใครรู้ว่า ทั้งหมดนั้นอยู่ในความรับรู้ของคณาจารย์หรือไม่ มหาวิทยาลัยมีนโยบายหรือไม่ มีอย่างไร และมีวิธีติดตามดูแลการปฏิบัติตามนโยบายหรือไม่

    จนกว่าจะมีเหตุ เช่น มีอุบัติเหตุถึงชีวิต หรือมีผู้ออกมาโวยวาย หรือในปีนี้คือข่าวการฆ่าตัวตาย

    ซึ่งต่อจากนั้นก็มีการออกมาปฏิเสธข่าว ว่าการรับน้องใหม่ไม่เกี่ยว เป็นเรื่องอื่น การป้ายสี และการโยนกลองเป็นปกตินิยมในสังคมไทย

    และแล้วเรื่องก็จะเงียบหายไป เมื่อฤดูกาลรับน้องใหม่ผ่านพ้นไป

    จนกระทั่งน้องใหม่กลายเป็นรุ่นพี่ในปีต่อไป แล้วเรื่องก็จะดำเนินไปซ้ำเดิม เป็นกงกำกงเกวียน หมุนทับไปบนพฤติกรรมเดิม ข่าวเดิม

    แต่อาจจะเลวร้ายลงเมื่อมีการแข่งกันสร้างกิจกรรมที่วิตถารยิ่งขึ้น

    และกว้างขวางขึ้นตามการขยายตัวของสถาบันระดับอุดมศึกษาไปทั่วประเทศ

    อ่านสิ่งที่เกิดขึ้น และภาพที่ตีพิมพ์ บางครั้งก็นึกสงสัยอยู่เหมือนกันว่า ที่บอกว่ารับน้องๆ นั่น เป็นน้องแน่หรือ

    การทำกิจกรรมหรือการแสดงออกที่วิตถาร ที่ลดค่าของความเป็นคนลงไป บางครั้งเป็นความบันเทิงของคนฝ่ายเดียว คือฝ่ายออกคำสั่ง แต่บางครั้งก็สนุกด้วยกันทั้งสองฝ่ายแต่ภาพที่ออกมาไม่น่าดู บางครั้งอดนึกไม่ได้ว่าผู้รับคำสั่ง และต้องปฏิบัติตามมีสถานะเป็นทาส เป็นข้าช่วงใช้ เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ฝ่ายออกคำสั่งลองวางอำนาจทดสอบดูว่า จะเชื่อฟังคำสั่งเพียงใดมากกว่าเป็นน้อง

    การรับน้องใหม่ที่ดีๆ ก็มีอยู่

    จากประสบการณ์การถูกรับน้องที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งกระโน้น ผู้เขียนไม่เคยรู้สึกเดือดร้อนใจ ไม่ว่าจะเป็นการรับน้องในระดับมหาวิทยาลัยหรือในคณะ

    บางคนมีแป้งประหน้านิดหน่อย พี่ๆ ขอให้ร้องเพลงเชียร์บ้าง ถูกสัมภาษณ์บ้างเข้าทำนองพี่ขอคุยด้วยหน่อย

    เวลาอื่นๆ ของการรับน้องคือการประชุมเชียร์ มีเวลากินข้าวนิดเดียวแล้วเข้าห้องซ้อมร้องเพลงเชียร์(ก็เราจะต้องร้องเชียร์คณะและเชียร์มหาวิทยาลัย ตอนแข่งฟุตบอลประเพณี) เย็นๆ ซ้อมเดินแถว(ก็เราจะเดินแถวเข้าสนามกีฬาฯ) มีซ้อมกีฬาบ้าง(ก็เป็นนักกีฬา) ไม่หนักหนาอะไรได้ออกกำลังขา ออกกำลังปอด

    เคยถามรุ่นน้องที่อยู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพราะได้ข่าวว่าที่นั่นโหดเขาบอกว่าเหมาะสมแล้ว แต่ปฏิเสธที่จะเล่ารายละเอียด บอกแต่ว่าพูดไปก็ไม่เข้าใจและเข้าใจผิดไปเปล่าๆ

    เป็นอันว่าลึกลับต่อไป

    ความลึกลับสร้างความระแวง และความลึกลับทำให้ทำการพลาดพลั้งได้ง่ายเพราะขาดพลังของการตรวจสอบ

    นี่เป็นคาถาของการดูแลเรื่องธรรมาภิบาล ที่เน้นความโปร่งใส ชี้แจงได้ ตรวจสอบได้

    ถามรุ่นลูก รุ่นหลานที่อยู่คณะอื่น ที่การรับน้องน่าจะมีสีสันและดุกว่าการรับน้องที่คณะอักษรศาสตร์ เช่น ได้ยินว่าถูกมอมเหล้า เขาบอกว่ารุ่นพี่ให้ลองเมาดูวันเดียว ไม่เป็นไร ใครไม่อยากเมาก็แกล้งเมาเร็วๆ แต่เขาเล่ากระบวนการวางแผนการรับน้องใหม่ให้ฟัง ซึ่งฟังดูเป็นขั้นเป็นตอน

    สิ่งแรกคือ จะดุ จะด่า จะให้รุ่นน้องทำอะไร เป็นเรื่องที่วางแผนล่วงหน้า มีการวางบทพูดและวางบทบาทของทุกคนในรุ่นพี่ไว้ล่วงหน้า โดยอยู่ในสายตารุ่นพี่เป็นลำดับชั้นขึ้นไปจากปี 2 จนถึง ปี 4 แม้กติกาบางอย่าง การห้ามโน้นห้ามนี่เขาก็กำหนดโดยมีเหตุผลประกอบ แต่บางคนที่ไม่ชอบใจก็ต่อต้าน บางคนต่อต้านเงียบโดยไม่ชอบมหาวิทยาลัยไปเลยก็มี

    ข้อต่อมาคือ กิจกรรมทั้งหมดต้องได้รับการอนุมัติจากอาจารย์ที่ได้รับมอบหมายให้มาเป็นที่ปรึกษากิจการนิสิต

    การรับน้องใหม่มีวัตถุประสงค์ให้ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกัน การช่วยเหลือกัน ความมีวินัย การออกแบบเกม ฯลฯ เป็นกิจกรรมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้น

    นอกจากนี้ก็เป็นเรื่องการประชุมเชียร์ และการให้ข่าวสารข้อมูลที่นิสิตใหม่พึงรู้

    เรื่องนี้พูดแทนคณะอื่น มหาวิทยาลัยอื่นไม่ได้ แต่พูดแทนสองคณะได้ แม้จะต่างวาระกัน

    อาจจะเคยมีเรื่องกันบ้างระหว่างนิสิตแต่ก็เป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับกิจกรรมรับน้องใหม่

    ในแต่ละคณะหรือมหาวิทยาลัย มักมีกิจกรรมอื่นที่นักศึกษานำเข้ามาแฝง เช่น การตีกลองเต้นๆ ท่าแปลกๆ บางคณะเรียกกิจกรรมเหล่านี้ว่าสันทนาการไม่นับว่าเป็นส่วนสาระของการรับน้องใหม่

    เคยได้ยินแว่วๆ มาว่า บางกลุ่มในบางคณะที่รู้กันว่าฟุ้งเฟ้อเกินความเป็นนิสิตนักศึกษายกกลุ่มไปรับน้องกันในต่างประเทศ ก็ถือว่าเป็นกิจกรรมที่แอบแฝงโดยอ้างการรับน้องบังหน้า

    เรื่องเหล่านี้อาจหลุดลอดสายตาอาจารย์ไปบ้าง หรือไม่ได้ขออนุญาตจะเกิดเป็นข่าวขึ้นเมื่อมีเหตุ เช่นอุบัติเหตุเกิดขึ้น

    รับน้องใหม่เพื่ออะไร และการดูแลเรื่องการรับน้องเป็นเรื่องของใครบ้าง นี่เป็นคำถามที่ต้องตอบ ทั้งจากนักศึกษา อาจารย์ และผู้บริหารมหาวิทยาลัย

    เคยได้ยินรุ่นหลานคุยกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เอาจริงเอาจังกับการตีความและประยุกต์ใช้คำว่า SOTUS ในรุ่นของเขา(SOTUS คือ Seniority, Order, Tradition, Unity, Spirit) การถกเถียงกันเป็นสิ่งที่ดี เป็นพลังขับเคลื่อนความคิด และการกระทำให้เข้ากับยุคสมัย

    จะตีความการรับน้องว่าอย่างไร เห็นได้จากการกระทำ

    อีกส่วนหนึ่งคือ การให้คำตอบในเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นปรัชญา การมองโลกมองชีวิตของนักศึกษาด้วย

    การรับน้องเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยและอาจารย์ไม่เกี่ยวข้องด้วยแน่หรือ

    มหาวิทยาลัยที่ถือว่าการรับน้องใหม่ไม่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัย คงรู้แล้วว่าเมื่อถึงเวลาเกิดเหตุขึ้นกับนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นในสถานที่หรือนอกสถานที่ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเกี่ยวข้องด้วยอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

    นักศึกษาจำนวนมากยังอยู่ในภาวะครึ่งเด็ก ครึ่งผู้ใหญ่ ยังต้องฝึกเรื่องต่างๆ เพื่อการก้าวไปสู่โลกของการทำงาน และชีวิตที่ต้องรับผิดชอบตนเอง หน้าที่ของมหาวิทยาลัยในความคิดของผู้เขียน คือเป็นผู้เตรียมความพร้อมให้กับเขา

    ไม่ใช่ด้วยการออกคำสั่งบังคับให้ทำทุกอย่างเป็นแบบแผนเดียวกันด้วยรายละเอียดมากมาย แต่ก็ต้องมีนโยบายที่ให้ทิศทาง เพื่อให้นักศึกษาเดินไปในทิศทางเดียวกันอันเป็นปรัชญาการศึกษาของมหาวิทยาลัยนั้นๆ

    อาจารย์ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องในฐานผู้ใหญ่ในสังคมมหาวิทยาลัยอาจารย์เป็นความคิดเตือนสติของนักศึกษา ในกรณีที่เรื่องจะเลยเถิดเกินไป อาจารย์คือผู้เฝ้าระวัง อยู่ห่างๆ เหมือนพ่อแม่ดูลูกเดินและวิ่ง ไม่เข้าไปจัดการหรือครอบงำความคิดของนักศึกษาเสียเอง

    กระทรวงศึกษาธิการเล่า เกี่ยวข้องอย่างไร

    กระทรวงศึกษาธิการ ไม่น่าจะใช่หน่วยออกคำสั่งในกิจการนิสิต เพราะยิ่งห่างไปจากนิสิตนักศึกษาเป็นอันมาก

    กระทรวงศึกษาธิการควรก้าวเขามาดูแลผ่านมหาวิทยาลัย เมื่อมหาวิทยาลัยแห่งนั้นๆ ละเลยไม่ใส่ใจ แต่ไม่ใช่การห้ามรับน้องใหม่ในปีนี้ เหมือนกับว่า ห้ามทำเฉพาะหน้า แล้วเรื่องจะหายไปได้ และไม่ใช่ว่าสั่งครอบไปทุกมหาวิทยาลัย โดยไม่เหลือดุลยพินิจไว้ให้กับผู้บริหารแต่ละมหาวิทยาลัย

    อีกข้อหนึ่งที่ได้ยินมาคือสั่งว่า การรับน้องนอกสถานที่ให้เป็นไปด้วยความสมัครใจเท่านั้น

    ซึ่งสะท้อนความพยายามที่จะทำเหมือนไม่เข้าใจวิธีปฏิบัติในสังคมไทย

    ความสมัครใจในกลุ่มที่มีค่านิยมบังคับ ไม่ช่วยให้คนสามารถแสดงความเป็นอิสระได้รู้กันอยู่ว่า ไม่สมัครใจก็ต้องทำ ถ้าไม่อยากถูกเพ่งเล็ง ไม่อยากถูกกลั่นแกล้ง ไม่อยากถูกเขม่น ซึ่งเป็นสารพัดถ้อยคำที่แสดงถึงอำนาจแฝง ที่มีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจ ที่ต้องทำด้วยความจำใจ

    มีตัวอย่าง 2 ตัวอย่างในเรื่องนี้

    ตัวอย่างแรก เป็นเรื่องกรรมาธิการว่าด้วยเรื่องอิทธิพลและอำนาจมืดในสังคมมีการสอบถามว่า เคยประสบกับอิทธิพลหรืออำนาจมืดในการทำงานหรือไม่

    ร้อยทั้งร้อยต้องตอบว่าไม่

    พวกหนึ่งไม่เคยประสบอำนาจมืดจริงๆ

    อีกพวกหนึ่งตกอยู่ใต้อำนาจมืด และเกรงกลัว จึงไม่กล้าพูดว่าตนอยู่ใต้อำนาจมืด

    อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นเรื่องขำขันที่หลายคนคงเคยได้ยินมาแล้ว

    ถูกถามว่า กลัวเมียหรือไม่ ทุกคนยกมือว่ากลัว ยกเว้นคนหนึ่ง

    เมื่อคนนั้นถูกถามว่า ไม่กลัวเมียจริงๆ นะหรือ

    คำตอบก็คือ เมียสั่งว่า ถ้าใครถามว่ากลัวเมียไหม ให้ตอบว่าไม่กลัวเมีย

    สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการทำคือ การออกคำสั่งผิดที่ ผิดเรื่องการกระทำเช่นนั้น กลับไปสร้างความสมัครสมานสามัคคีขึ้น ในกลุ่มนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยที่เดิมเคยต่างคนต่างอยู่ และถ้าทุกมหาวิทยาลัยเอาจริงกับคำสั่งห้าม ก็เท่ากับว่าคำสั่งนั้นไปทำลายประเพณีดีๆ ที่มีอยู่ในบางแห่ง บางคณะอีกด้วย แทนที่จะส่งเสริมสิ่งที่ดีงามให้แพร่หลาย และลด หรือเว้นการกระทำที่ไม่ดีไม่งาม

    ในขณะที่เรากำลังวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจออกคำสั่งที่ไม่เหมาะไม่ควรของรุ่นพี่ ปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุการณ์ กลับสะท้อนสิ่งที่เราวิพากษ์วิจารณ์นั้นเองคือผู้มีอำนาจเหนือ ใช้อำนาจในการสั่ง เพื่อบังคับ และบัญชา ไม่มีอะไรต่างกัน

    จะปฏิรูปการศึกษา ต้องปฏิรูปวิธีคิดกันก่อน ปฏิรูปการศึกษาไปทางไหน เราจะเห็นประเพณีการรับน้องค่อยๆ เปลี่ยนไปทางนั้น อย่างแน่นอน


    ที่มา www.nidambe11.net
     

แชร์หน้านี้

Loading...