"สวนตีนเปล่า" วิถีการบำบัดเท้าด้วยตัวเอง

ในห้อง 'จิตวิทยา & สุขภาพ' ตั้งกระทู้โดย zipper, 19 เมษายน 2005.

  1. zipper

    zipper เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กันยายน 2004
    โพสต์:
    5,226
    ค่าพลัง:
    +10,590
    <center><img src="http://pics.manager.co.th/Images/548000006365101.JPEG"/><br>ลานหยินหยาง ส่วนหนึ่งของสวนเท้าเปล่าที่ถือว่า ท้าทายและสวยงามที่สุด</center>

    <hr>

    คือสองตีน ที่แบกกายไว้หนักอึ้ง
    เคยคำนึง ตระหนักค่า มาบ้างไหม?
    คือศูนย์กลาง สร้างความหมาย ทั้งกาย-ใจ
    กลับห่อหุ้ม รัดเอาไว้ ไม่ติดดิน
    ถึงเวลา มาปลดปล่อย ตีนน้อยบ้าง
    ให้สัมผัส ทุกเส้นทาง ทั้งอิฐหิน
    ทั้งกรวด ทราย ไม้ หญ้า แนบฝ่าตีน
    ให้พลัง จากแผ่นดิน ได้ซึมซับ


    เท้ามนุษย์ ถือเป็นประติมากรรมทางชีวภาพชั้นยอดที่แข็งแรงและยืดหยุ่นสูงสุด ทั้งแบบโครงสร้างและกลไกการทำงานของเท้าที่รองรับภารกิจได้อย่างปราศจากข้อแม้และการขัดขืน

    แต่ที่ผ่านมา ผู้คนจำนวนไม่น้อยละเลยความสำคัญของเท้าจนเสียโอกาสของการมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดีไป ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นทำให้คน คนหนึ่งหันมาให้ความสำคัญกับ "เท้า" กระทั่งเกิดแนวคิดที่จะทำสวนสำหรับเท้าขึ้นมาโดยเฉพาะ นั่นก็คือ "สวนตีนเปล่า" หรือ "สวนเท้าเปล่า" (Barefoot Garden)

    สวนเท้าเปล่า : นวดเท้าแบบธรรมชาติ

    ท่ามกลางธรรมชาติริมสายน้ำท่าจีน....

    "วังยาง รีสอร์ต" รีสอร์ตเพื่อสุขภาพ แหล่งพักผ่อนชั้นเยี่ยม ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่บ้านวังยาง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี คือ สถานที่ตั้งของสวนเท้าเปล่า สวนที่เต็มไปด้วยความน่าสนใจ ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน

    สวนเท้าเปล่าแห่งนี้เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดของ "ทันตแพทย์อนุศักดิ์ คงมาลัย" เจ้าของรีสอร์ตที่ตระหนักถึงความสำคัญของเท้า ซึ่งทุกคนใช้งานอย่างหนักมาตลอดชีวิต

    "ความคิดนี้เกิดขึ้นในเช้าวันหนึ่งขณะที่กำลังวิ่งเหยาะๆ เสร็จแล้วจึงลองถอดรองเท้าเดินบนหญ้าเพื่อให้เท้าได้รับน้ำค้างบนยอดหญ้า ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี จากนั้นจึงลองเดินบนกรวด และหินดูด้วย กระทั่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ทดลองทำสวนตีนเปล่าขึ้นมา โดยสิ่งที่คำนึงเป็นอันดับแรกเลย คือ รูปแบบทางเดินต้องปลอดภัยไม่มีหนาม เศษแก้ว กระเบื้องและไม่รกรุงรังแต่ได้สัมผัสกับธรรมชาติมากที่สุด ผมจึงหาข้อมูลเพิ่มมากขึ้นจากในเว็บไซต์ต่างๆ รวมทั้งผู้รู้ด้วย"

    "ที่สำคัญคือ ผมตั้งใจที่จะทำให้วังยางรีสอร์ตเป็นรีสอร์ตเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง ต่างจากรีสอร์ตอื่นๆ ที่โดยปกติมีการผจญภัย ท่องเที่ยว หรือรับประทานอาหารสดๆ จากธรรมชาติเท่านั้น เพราะกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพมีอยู่มากมาย เช่น การเต้นแอโรบิก รำมวยจีน รำไทเก๊ก ฝึกลมปราณ โยคะ จี้กง ฯลฯ ซึ่งแต่ละกิจกรรมล้วนให้คุณประโยชน์ต่อสุขภาพแตกต่างกันไป เมื่อบวกกับสภาพแวดล้อมอันเป็นธรรมชาติก็ช่วยให้สามารถทำกิจกรรมต่อเนื่องได้มากขึ้น"


    ทันตแพทย์อนุศักดิ์ เล่าต่อว่า สวนแห่งนี้ออกแบบโดยนายจิตร ขาวโต สถาปนิก เจ้าของพรชัยการ์เดน ศรีประจันต์ ซึ่งเป็นเพื่อน ทั้งนี้ การออกแบบตั้งอยู่บนหลักคิดสำคัญคือให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด คอนกรีตเทก่อนแล้วเรียงหินแบบก้อนต่อก้อน เพื่อให้มันติดอยู่กับที่ไม่พลิก เพราะถ้าหากโรยเฉยๆ จะพลิก และเกิดผลเสียต่อร่างกายได้

    ทั้งนี้ จากการที่ค้นคว้าหาข้อมูลพบว่าในเมืองจีนก็นิยมการทำสวนที่กลมกลืนสวยงามแต่ไม่ได้ใช้เพื่อสุขภาพเท้า เพราะไม่มีใครสนใจจะเดินเท้าเปล่า หรือไม่รู้ว่าเดินไปเพื่ออะไร ถึงแม้ว่าการกดจุดสะท้อนกลับเป็นความรู้จากเมืองจีนเป็นหลัก การกดจุดโดยใช้มือหรือไม้และการฝังเข็มเป็นที่นิยมมากกว่า

    "มีการค้นคว้าพบว่า ในยุโรปก็มีทางเดินสวนเท้าเปล่า โดยเฉพาะในโรงเรียนท้องถิ่นจะสอนนักเรียนให้หาวัสดุพื้นบ้าน ไม้ หิน ทราย มาทำเป็นทางเดินวางไว้หลังห้องแล้วเดินเหยียบ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้เด็กที่โตมากับการใส่รองเท้า มีประสาทสัมผัสกับพื้นผิวธรรมชาติ เนื่องจากการสวมรองเท้าเพียงอย่างเดียว ทำให้การทรงตัวอาจมีปัญหาได้"

    "โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่สวมรองเท้าตลอดเวลา จะทำให้ใช้แต่ปลายเท้าเดินจนส่งผลทำให้น่องโป่ง กลายเป็นความไม่สมดุลของร่างกาย เหมือนกับเขาสอนเด็กให้ย้อนกลับไป สูงสุดคืนสู่สามัญ รวมทั้งมีการฝึกใช้นิ้วเท้าเพื่อให้ได้ออกกำลัง โดยเอานิ้วเท้าผูกเชือกกระตุ้นเซลล์ส่วนปลาย กระตุ้นที่สมอง ฝรั่งใช้การเดินในลำธาร หิน หญ้า ปีนเขา แบบถอดรองเท้าทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจมาก"


    สำหรับภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็มีอยู่เช่นกัน กล่าวคือมีการใช้กะลามะพร้าวตัดครึ่ง แล้วนำวางคว่ำเพื่อให้เหยียบ ซึ่งจะช่วยให้คลายเมื่อยและช่วยปรับสมดุลได้ ดังนั้น การกดจุดจึงเป็นศาสตร์ภูมิปัญญาของคนที่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใดก็ตาม

    ศาสตร์แห่งการบำบัดด้วยตนเอง

    หากใครที่เคยสัมผัสสวนเท้าเปล่าแห่งนี้ ก็จะพบว่า เส้นทางเดินที่ทอดยาวอยู่ภายในสวนปูด้วยวัสดุนานาชนิด ซึ่งได้รับการออกแบบเอาไว้สำหรับให้เดินแบบ "ไม่ต้องใส่รองเท้า" หรือ "เดินเท้าเปล่า" โดยเฉพาะ ซึ่งเมื่อทดลองเดินแล้วจะให้ความรู้สึกและสัมผัสที่แตกต่างจากปกติ เสมือนหนึ่งได้รับการนวดฝ่าเท้าจากธรรมชาติโดยตรง

    ทันตแพทย์อนุศักดิ์ บอกว่า นี่เป็นการนำแนวความคิดคนโบราณที่มีความเชื่อในเรื่องของวิธีการกดจุดสะท้อนกลับ ดังนั้น จึงให้ความสำคัญกับการเดินเท้าเปล่าบนวัสดุที่มีความโค้งนูน และไม่เป็นอันตรายต่อเท้า

    ด้วยเหตุนี้ จึงนับได้ว่า สวนเท้าเปล่าเป็นศาสตร์ที่สามารถบำบัดด้วยตนเอง โดยที่ไม่ต่างกันกับการกดจุดสะท้อนเท้าที่ใช้เพื่อการบำบัดที่ใช้นิ้วหรือไม้ มากนัก เพียงแต่มีความละมุนละไมกว่า

    "การกดจุดสะท้อนกลับ เป็นศาสตร์ที่ค่อนข้างรู้จักกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว โดยบนฝ่าเท้ามีทั้งเส้นเลือดและปลายประสาทที่มาหล่อเลี้ยงบริเวณเท้าทั้งหมด แต่ละจุดที่เกิดการสัมผัสของฝ่าเท้ามีความหมาย ส่งผลต่อส่วนต่างๆ ในร่างกาย โดยมีปฏิกิริยาตอบสนองไปยังสมองและสั่งการกลับมายังอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกาย ดังนั้น เมื่อเราเดินไปบนสวนเท้าเปล่า ความรู้สึกของผิวสัมผัสทั้งหมดของฝ่าเท้าก็จะถ่ายทอดกลับมาสู่สมอง"

    เจ้าของแนวคิดสวนเท้าเปล่า ยังอธิบายด้วยว่า วิทยาการกดจุดสะท้อนกลับ แบ่งพื้นที่บนฝ่าเท้าออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ ๆ ตามแนวขวาง คือ เส้นที่ลากผ่านโคนกระดูกนิ้วเท้า เส้นลากผ่านกลางกระดูกอุ้งเท้า และเส้นลากผ่านกลางกระดูกส้นเท้า แต่ละเส้นที่แบ่งจะเชื่อมโยงหมายถึง ไหล่ เอวและอุ้งเชิงกรานตามลำดับ โดยในแต่ละพื้นที่จะเชื่อมโยงต่อกันโดยการกระตุ้นผ่านจุดบนฝ่าเท้าก็จะส่งผลถึงอวัยวะนั้นๆ ด้วย

    คำอธิบายง่ายๆ ของกลไกนี้คือ การกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตและการกระตุ้นระบบประสาท ทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น อวัยวะที่มีเลือดไหลเวียนหล่อเลี้ยงดีก็ย่อมมีสุขภาพดีสามารถทำงานได้อย่างสมดุล ทั้งเป็นการลดความดันจากการใช้งานเท้าอย่างหนักหน่วงในแต่ละวัน มีผลทำให้บรรเทาความตึงเครียดที่เกิดขึ้นต่ออวัยวะที่เกี่ยวเนื่องกับจุดหรือพื้นที่บนฝ่าเท้าเหล่านั้น

    ดังนั้น ขณะเดินอยู่บนสวน หากกดจุดเท้าตรงไหนเจ็บหรือรู้สึกผิดปกติมากกว่าจุดอื่นๆ ก็มีแนวโน้มว่าตรงจุดนั้นมีปัญหาทางสุขภาพ บางจุดเจ็บมาก บางจุดไม่เจ็บเลย ถือเป็นการสุ่ม ถ้าเดินแล้วจุดใดผิดปกติก็ควรลองมาวิเคราะห์ดูว่าเราผิดปกติหรือไม่ ส่วนคนที่มีบาดแผลก็ไม่ควรเดินเท้าเปล่าเนื่องจากอาจก่อให้เกิดเชื้อโรคเข้าสู่บาดแผล


    ที่สำคัญคือ หลังเดินควรล้างเท้าให้สะอาดเพื่อป้องกันพยาธิและเชื้อโรคต่างๆด้วย

    ลืมรองเท้าแล้วมาวอล์กแรลลี่

    หลังจากทราบประโยชน์ วิธี กลไก กันมาพอสมควรแล้วก็ถึงเวลาสัมผัสกับประสบการณ์จริง เพราะที่นี่ทันตแพทย์อนุศักดิ์ ได้จัดกิจกรรมวอล์กแรลลี่ ซึ่งเสมือนกับเป็นอุบายเพื่อความสนุกเพลิดเพลินกับการเดินและไม่เบื่อง่ายๆ โดยจุดเริ่มต้นจะอยู่ที่ลานวงกลม จากนั้นเดินอย่างจดจ่ออยู่กับโจทย์ที่เขียนไว้ เช่น เดินไปทางขวา 4 ก้าว ซ้าย4 ก้าว แล้วนับก้อนหิน หรือเจออะไรให้บันทึกเอาไว้

    ขณะเดียวกันแต่ละย่างก้าวก็กำหนดจิตให้มีสมาธิ พยายามให้น้ำหนักกดลงกระจายทั่วเท้า เมื่อจะลงน้ำหนักเต็มตัวขณะก้าวเท้าก็ให้ระมัดระวัง การถอยหลังเดินหน้าเดินข้างๆ ปลายเท้า ข้างเท้า ทั้งข้างนอกข้างในรวมทั้งส้นเท้าได้สัมผัสกับพื้นผิวเหล่านั้นด้วย

    ทั้งนี้ ในการเดินแต่ละแบบ ช่วยกระตุ้นความรู้สึกของเท้ามากขึ้น โดยอาจใช้เวลาเดินประมาณ 25 นาที เมื่อเดินเสร็จก็สามารถออกกำลังกายต่อด้วยการฝึกข้อเท้า ข้อเข่า ข้อสะโพก ถ้าอ้วนมากอาจลำบากแต่ก็เลือกทำให้เหมาะกับตนเอง คนที่มีสุขภาพดีอยู่แล้วอาจยืนทำท่ากางขาให้พอเหมาะย่อตัวนั่งลง ในบ่อทรายหรือหินที่เป็นก้อนๆ นี่เป็นวิธีการกดจุดสะท้อนกลับโดยใช้น้ำหนักตัวหรือแรงโน้มถ่วงของโลก

    "ตรงลานหยินหยางเป็นการเรียงหินแบบตั้งชันขึ้นมาแล้วถ้าใครไม่ชำนาญจะบอกว่าเท้าตัวเองบางทำให้เจ็บมาก ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เท้าบางหนาแต่เป็นเรื่องความสมดุล เหมือนกับโยคีที่นั่งบนตะปู ทำไม เขาจึงไม่รู้สึกเจ็บ หรือ ตะปูไม่ตำนั่นเป็นเพราะเขาเทน้ำหนักสม่ำเสมอ ฝ่าเท้าก็เช่นเดียวกัน ซึ่งจุดหยินหยางถือเป็นส่วนที่ท้าทายอย่างมาก"

    การเดินในสวนมีทางเดินไม้หมอนรถไฟ มีหินแม่น้ำสีต่าง ๆ แบบตั้งนอน หินก้อนใหญ่ หินทรายล้าง พื้นทราย ดิน บันไดเดินสูงขึ้น เมื่อผ่านทางเดินทั้งหมดจึงล้างเท้านำน้ำมันนวดเท้านวด และหากใครสนใจเรื่องพลังหินบำบัด หรือที่เรียกว่าอัญมณีบำบัด ก็สามารถ ขึ้นไปเหยียบอยู่บนอัญมณีที่มีคุณสมบัติต่างๆ กัน ตามราศี หรือเดือนเกิด

    เช่น อเมทิสปกป้องผองภัยอันตราย ไทเกอร์อาย (คดไม้สัก) มีคุณสมบัติเสริมพลังปกป้อง จากนั้นจึงยืนและใช้เวลาทำสมาธิในหลักเดียวกับสวนเท้าเปล่าเพื่อรับรู้จุดสัมผัสทั้งหมด พร้อมภาวนาบริกรรมขอให้คุณสมบัติดีๆ ซึมแผ่ทั่วร่างสัก 5-10 นาที

    "คนที่มาเดินเป็นครั้งแรกจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สบายขึ้น ขาซ่าขึ้นมา ทำติดต่อหลายวัน ยิ่งทำให้เบาตัวยิ่งขึ้น ผสมผสานกับโภชนาการบำบัด ฝึกการหายใจการออกกำลังแบบอื่นๆ ก็สามารถปรับปรุงสุขภาพให้ดีขึ้น อาจจะสัปดาห์ละ 4-5 วัน แต่ถ้าไม่มีที่เดิน ก็ซื้อที่เหยียบเท้า หรือซื้อหินแม่น้ำที่ร้านจัดสวน มาทำเองก็ได้ อาจนำไปไว้หน้าห้องน้ำ บริเวณไหนก็ได้ที่สะดวกภายในบ้าน" ทันตแพทย์อนุศักดิ์แนะนำ

    ท้ายที่สุดทันตแพทย์อนุศักดิ์ ได้แนะนำวิธีการดูแลสุขภาพเท้าที่ดีว่า ควรป้องกันไม่ให้เท้าเปียกชื้น และควรเช็ดเท้าให้แห้งเสมอ เพราะเท้ามีต่อมเหงื่อมากที่สุดและเป็นที่อยู่ของแบคทีเรีย หากมีกลิ่นเท้าควรใช้แป้งโรยเท้า อีกทั้งควรให้เท้าได้หายใจวันละมาก ๆ

    ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความใส่ใจในเรื่องของรองเท้า เพราะการใส่รองเท้าที่บีบรัดหัวแม่เท้าทั้งวันจะทำให้หายใจไม่สบายเพราะนิ้วหัวแม่เท้ามีจุดของจมูกและอวัยวะเกี่ยวกับการหายใจอยู่ โดยใช้เวลาช่วงที่ทำงาน เปลี่ยนมาใส่รองเท้าแตะแทนบ้าง หรือหากมีโอกาสควรให้เท้าได้สัมผัสพื้นผิวที่ขรุขระบ้างเพื่อเป็นการกดจุดสะท้อนเท้า หรือหัดเดินเท้าเปล่าบ้างและอย่าให้เท้าบางจนเกินไป

    <hr>

    <img src=http://pics.manager.co.th/Images/548000006365102.JPEG>

    หินรูปแบบต่างๆ ที่ช่วยกระตุ้นผิวสัมผัสบริเวณฝ่าเท้า


    <img src=http://pics.manager.co.th/Images/548000006365104.JPEG>

    เดินด้วยจิตมีสมาธิ ฝึกการหายใจเข้าออก ได้รับประโยชน์ครบวงจร


    <img src="http://pics.manager.co.th/Images/548000006365105.JPEG">

    บริเวณของสวนเท้าเปล่าที่มีแต่ความร่มรื่น


    <img src=http://pics.manager.co.th/Images/548000006365107.JPEG>

    "ทันตแพทย์อนุศักดิ์ คงมาลัย" เจ้าของวังยาง รีสอร์ท สุพรรณบุรี และแนวคิด "สวนเท้าเปล่า"
     
  2. phuang

    phuang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 มกราคม 2005
    โพสต์:
    4,033
    ค่าพลัง:
    +10,043
    เออ...:cool:
    น่าสนใจเหมือนกันนะคะ
     

แชร์หน้านี้

Loading...