หลวงปู่พิมพาและหลวงปู่จ้อย

ในห้อง 'สมเด็จโต พรหมรังสี' ตั้งกระทู้โดย pongio, 11 สิงหาคม 2015.

  1. pongio

    pongio เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 พฤษภาคม 2013
    โพสต์:
    843
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +6,852
    ผู้บุกเบิกสร้างวัด และ หมู่บ้าน


    แต่เดิมโยมท่านและตัวท่านมีภูมิลำเนาถิ่นฐานอยู่บ้านดอนหวาย ตำบลพรวงสองนาง อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี โยมชายหญิงของท่านเห็นว่าที่ทำกินมันชักจะแคบเข้าทุกที ทำนาไม่พอเลี้ยงลูกที่มีเพิ่มขึ้น ชีวิตในโลกนี้คือการดิ้นรนคนส่วนมากของประเทศ โดยเฉพาะชาวไร่ชาวนา ดิ้นรนเพียงเพื่อมีชีวิตอยู่ ทุ่มเทชีวิตเรี่ยวแรงหยาดเหงื่อทุกหยด เพื่อความมีชีวิตของตน สมัยนั้นที่ดินป่าไม้ยังรกร้างว่างเปล่า ไม่ต้องยื้อแย่งกรรมสิทธิ์อะไรกัน ผู้คนพลเมืองยังมีน้อย “ ดินดีเพราะป่าปก ป่ารกเพราะเสือยัง ” มีอยู่มากมาย ใครมีกำลังเรี่ยวแรงเท่าไร ก็มาหักร้างถางพงให้เป็นไร่เป็นนาเอาตามความสามารถของตน พอทำกินเลี้ยงลูกเมียแล้วก็พอใจ มิได้กำเริบใจจะเป็นนายทุนเจ้าของที่ดินเป็นหมื่นเป็นพันไร่อย่างในปัจจุบันนี้

    เมื่อทราบว่าทางบ้านวังเดื่อ ตำบลหนองกรด จังหวัดนครสวรรค์ ยังมีที่ดินว่างเปล่าอยู่มาก จึงได้ปรึกษาชักชวนกันอพยพจากถิ่นเดิม เอาพริก เอาเกลือ เอาข้าวใส่เกวียนเทียมโคมา จอบเสียมเครื่องมือทำกินก็เอามาพร้อม เดินทางรอนแรม พักไหนนอนนั่น มาหลายวันหลายคืน ผ่านมาทางหนองขุย ห้วยอีด่าง ลัดเข้าหนองกล้ำ เข้าดอนเพชร โนนแดง ข้ามแม่น้ำแควตากแดด ขึ้นบ้านวังหินดาร หนองกระทุม เรื่อยมา ทางรถเรียบ รถยนต์วิ่งได้สบายบรื๋อ อย่างเดี๋ยวนี้หามีไม่ เกวียนมีสิทธิ์ที่จะใช้ทางเกวียนอย่างเต็มที่ ก็ทางเกวียนนี้แหละครับ เป็นเครื่องวัดนิสัยใจคอของคนไทยแต่ไรมา เมืองไทยอากาศมันร้อน จะเดินทางไปข้างไหนก็ลดเลี้ยวเลี่ยงไปเดินตามร่มเงา หรือที่ไหนรกทึบด้วยแมกไม้ ยากเกินไปที่จะบุกป่าผ่าหนาม ก็เลี่ยงเดินเสียที่มันเตียนไม่ต้องออกแรง ทางที่เริ่มขึ้นเป็นทางเดินเท้าต่อมาก็ขยายกว้างเป็นทางเกวียน โคกระบือเทียมเกวียนจึงพาเกวียนเลี้ยวลดไปตามทางที่มีอยู่ ที่จะลัดตัดตรงนั้นไม่มี โบราณว่าเกวียนหนีทางไม่ได้ กว่าจะพาครอบครัวอพยพถึงวังเดื่อได้ ก็หลายวันเต็มที่

    ครอบครัวของหลวงพ่อจ้อย นับว่าเป็นผู้บุกเบิกดินแดนถิ่นนี้เป็นครั้งแรก ตั้งหน้าหักร้างถางป่าอีกหลายปีจึงมีที่ดินทำไร่ไถนาได้พอเลี้ยงกัน จากนั้นก็ไปชักชวนเพื่อนพวกพี่น้องในถิ่นเดิม ให้มาบุกเบิกทำกินเอาตามกำลัง “ ดินดีเพราะป่าปก ป่ารกเพราะเสือยัง ” เหลืออยู่อีกมากมาย ไม่หวงแหนกีดกันเอาเป็นของตนแต่ผู้เดียว เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันตามประสาไทย ใครมีแรงมากเอาให้มาก มีแรงน้อยก็เอาแต่พอแรงของตน บ้านวังเดื่อที่เคยเป็นป่า บัดนี้ก็ค่อย ๆ กลายเป็นแหล่งชุมชนของหมู่บ้าน และที่เราเรียกกันว่า “ บ้านวังเดื่อ ” เพราะว่าได้มีต้นมะเดื่อขนาดสูงใหญ่ขึ้นอยู่ที่ริมคลองหลังวัด และในปัจจุบันนี้ก็คงเหลือเพียงแต่ตอของต้นมะเดื่อที่จมอยู่ในคลองด้านหลังวัด และเราจะสามารถเห็นตอนี้ได้ก็ต่อเมื่อน้ำในคลองได้ลดลง ต่อมาโยมพ่อโยมแม่แล้วก็ญาติชาวบ้านวังเดื่อได้พร้อมใจกันยกที่ให้หลวงพ่อได้ทำการสร้างเป็นที่พักสงฆ์ เพื่อจะเอาไว้เป็นสถานที่สาธารณประโยชน์ในการบำเพ็ญกุศล แล้วจึงได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์แห่งนี้ ต่อมาทางคณะสงฆ์ได้จัดตั้งวัดขึ้นให้เป็นวัดที่สมบูรณ์แบบถูกต้องตามกฎหมาย ชื่อว่า “ วัดศรีอุทุมพร ” เพราะว่าตามหลักของภาษาบาลี “ ไม้มะเดื่อ ” นั้นแปลว่า “ ไม้อุทุมพร ” พอเติมคำว่า “ ศรี ” เข้าไปก็เป็น “ วัดศรีอุทุมพร ” คือ “ วัดที่เป็นศิริงดงาม ” จึงเป็นมงคลนาม



    อุปนิสัยเมื่อเยาว์วัยของหลวงพ่อจ้อย จนฺทสุวณฺโณ

    ท่านเป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตน ว่านอนสอนง่าย ชอบความยุติธรรม ขยันขันแข็ง เอาการเอางาน จนกระทั่งคนในหมู่บ้านพากันยกย่องเชิดชูกันว่าท่านเป็นคนขยันประจำหมู่บ้าน เพราะว่าท่านนั้นจะต้องตื่นแต่เช้าเพื่อที่จะนำควายออกจากคอกไปไถนาก่อนใครเสมอ จนไม่มีใครสามารถที่จะสู้ท่านได้ พร้อมกับท่านเป็นคนที่มีปฏิภาณไหวพริบ ว่องไวกว่าเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน ตลอดจนคนอื่น ๆ ในหมู่บ้าน ทำงานเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัว มากกว่าพี่น้องคนอื่น ๆ ท่านมักจะลงมือทำงานก่อนใครเขา แต่มักจะเลิกทำงานที่หลังใครเขาเสมอ และจะเห็นได้ว่าแม้แต่ในเวลาทำงาน เช่นในเวลาเกี่ยวข้าวแม้ท่านจะปวดหลังท่านก็ยังคุกเข่าเกี่ยวข้าวต่อไป หรือแม้แต่ว่าเวลาพักท่านก็มิได้นั่งอยู่เฉย ๆ ท่านจะจักตอกเหลาไม้เพื่อที่จะนำมาสานเป็นกระบุงเป็นตะกร้า ตามวิถีชีวิตของชาวบ้านท้องถิ่น ส่วนตัวท่านนั้นมักจะมีความเมตตากรุณาไม่นิยมการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ครั้งหนึ่งพี่สาว-น้องชาย ของท่านได้ไปจับกบจับปลา เอามาขังไว้เป็นจำนวนมาก ท่านก็ได้ไปนั่งพิจารณาดูจนเกิดความสังเวชสงสานต่อสัตว์ที่ถูกจับมาขังเหล่านั้น ท่านจึงได้ลักนำเอาปลาและกบเหล่านั้นไปปล่อยโดยที่ไม่ให้พี่สาว-น้องชาย ของท่านรู้ ต่อมาในช่วงที่ท่านกำลังเป็นหนุ่มพวกเพื่อน ๆ มักจะมาชักชวนกันไปไปเที่ยวคุยกับสาว (จีบสาว) ตามบ้านโน้นบ้านนี้ ในเวลากลางคืน ท่านก็มักจะตอบไปเสมอว่าให้ไปกันก่อน แล้วจะตามไปทีหลัง แต่แล้วท่านก็ไม่เคยตามไปสักที ท่านจะไม่ชอบเที่ยว มุ่งทำแต่ที่จะทำงานอย่างเดียวแม้แต่ในเวลากลางคืนก็ยังจุดตะเกียงทำ แล้วท่านก็ยังชอบที่จะสนทนากับผู้มีอายุหรือ คนแก่ในหมู่บ้านเรื่องศีล เรื่องธรรมอยู่เสมอ อีกอย่างหนึ่งคือท่านมักจะติดตามโยมของท่านไปทำบุญ ฟังเทศน์ที่วัดอยู่เสมอ จนกระทั่งอายุ ๒๐ ปี
    สาเหตุที่ต้องอุปสมบท

    ๑. ท่านมีความศรัทธาเลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก
    ๒. ท่านเป็นคนที่มีความกตัญญูรู้คุณ ต่อ บิดา-มารดา จึงต้องบวชบูชาคุณ และเพื่อเป็นการตอบสนองต่อบุญคุณ บิดา-มารดา ส่วนหนึ่ง
    ๓. ท่านมาเล็งเห็นว่าการครองเพศฆารวาสมีแต่ความวุ่นวายเป็นอย่างมาก ในเรื่องความเป็นอยู่ บ้างก็เบียดเบียนกัน บ้างก็เอารัดเอาเปรียบกัน แย่งชิงสมบัติกัน กินเหล้าเมายา ขาดความเคารพซึ่งกันและกัน ท่านก็จึงได้เกิดอาการเบื่อหน่าย
    ๔. ต้องบวชเรียนตามประเพณี คนสมัยก่อนถือกันว่าถ้าเกิดมาเป็นชาย ต้องบวชเรียนเสียก่อน ถ้าใครยังไม่ได้บวช
    เรียนเขาเรียกกันว่า “ คนดิบ ” ส่วนถ้าใครบวชเรียนแล้วจึงถือได้ว่าเป็น “ คนสุก

    ซึ่งทั้ง ๔ ประการที่ได้กล่าวมานี้ถือได้ว่าเป็นสาเหตุให้หลวงพ่อจ้อยได้บวช จึงได้ไปปรึกษาบิดา-มารดา ญาติพี่น้อง ต่างๆ ก็ได้รับอนญาติ จึงได้พาหลวงพ่อจ้อยไปอุปสมบทที่ จังหวัดอุทัยธานี เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ที่วัดดอนหวาย ตำบลพรวงสองนาง อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี โดยมีพระครูปลัดตุ้ยเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์บุญธรรมเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์บุญตาเป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ จนฺทสุวณฺโณ ” ซึ่งแปลว่า “ ผู้มีผิวพรรณงามดั่งพระจันทร์ ” และยังถือได้ว่าท่านมีอุปัชฌาย์องค์เดียวกันกับ “ หลวงพ่อเสน่ห์ ” แห่งวัดสว่างอารมณ์ เกจิชื่อดังแห่งจังหวัดอุทัยธานี


    หลังจากที่ท่านได้ทำการบวชแล้วนั้น ท่านได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดดอนม่วง ตำบลวังม้า อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ เป็นเวลา ๕ พรรษา เพราะว่าท่านมีญาติพี่น้องอยู่ที่นั้น และได้ทำการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมจนท่านสามารถสอบได้นักธรรมตรีในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ หลังจากนั้นท่านก็ได้ย้ายไปอยู่จำพรรษาที่วัดพรหมจรรยาวาส อำเภอเมืองฯจังหวัดนครสวรรค์เพื่อศึกษาต่อนักธรรมโท จนกระทั้งท่านสามารถสอบนักธรรมโทได้ในปีต่อมาคือ พ.ศ. ๒๔๗๙


    หลังจากนั้นท่านก็มุ่งหน้าเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ ไปยังระฆังโฆษิตาราม เพื่อจะไปศึกษาต่อเพราะว่าท่านนั้นรู้จักคุ้นเคยกับ ท่านเจ้าคุณภาวนาภิราม (สุก ปวโร) เพราะว่าท่านเจ้าคุณสุกนั้น เป็นคนจังหวัดอุทัยธานี และที่สำคัญคือท่านเจ้าคุณสุก นั้นเป็นญาติกับหลวงพ่อจ้อย สาเหตุที่ท่านจะไปนั้นเพื่อจะไปศึกษาเล่าเรียนเกี่ยวกับบาลี แต่บังเอิญว่าความจำของท่านไม่ค่อยดี ท่องหนังสือไม่จำ ท่านเลยไปสนใจที่จะเรียนพระอภิธรรมที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ กับท่านพระอาจารย์เจชิน ที่มาจากประเทศพม่า ซึ่งตอนนั้น อาจารย์แนบ มหานีรานนท์ ก็ได้ไปเรียนอยู่ด้วย


    ในขณะที่หลวงพ่อจ้อยได้อยู่ที่วัดระฆังโฆษิตารามซึ่งได้มีหลวงปู่นาค เป็นเจ้าอาวาสอยู่ และถือได้ว่าหลวงปู่นาค นั้นเป็นสายเดียวกันกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งในยุคนั้นหลวงพ่อพิมพา วัดหนองตางู ก็ได้ไปศึกษาอยู่ที่นั้นด้วย ถือได้ว่าหลวงพ่อพิมพา เป็นศิษย์รุ่นพี่ของหลวงพ่อจ้อย นั้นเอง หลวงพ่อเคยเล่าให้ฟังอยู่ครั้งหนึ่ง ว่าสมัยที่ท่านอยู่วัดระฆังโฆษิตารามนั้น ท่านท่องหนังสือไม่ค่อยจำ ได้หน้าก็มักจะลืมหลัง ท่านก็เลยเข้าปฏิบัติกรรมฐานอยู่เป็นเวลาถึง ๘ เดือน พอท่านออกจากการปฏิบัติกรรรมฐาน ท่านก็ได้เดินทางกลับมาเยื่ยมโยมพ่อโยมแม่ที่บ้านวังเดื่อแล้วท่านก็ได้เดินทางกลับไปศึกษาเล่าเรียนต่อทางด้านวิปัสสนากรรมฐานที่วัดระฆังฯ และที่วัดมหาธาตุฯ ต่อมาเมื่อชาวบ้านก็ได้เล็งเห็นความลำบากในการทำการอุปสมบทของกุลบุตรว่าต้องเดินทางไปทำการอุปสมบทที่อื่น และพระภิกษุสงฆ์ต้องทำสังฆกรรม เช่นต้องลงอุโบสถในวันพระ ๑๕ ค่ำ ซึ่งเป็นกิจวัตร เป็นต้น

     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_4385.JPG
      IMG_4385.JPG
      ขนาดไฟล์:
      1.8 MB
      เปิดดู:
      1,044
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 11 สิงหาคม 2015
  2. pongio

    pongio เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 พฤษภาคม 2013
    โพสต์:
    843
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +6,852
    ประวัติ หลวงปู่พิมพา ธมฺมวโร วัดหนองตางู
    หลวงปู่พิมพา ธัมฺมวโร อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองตางู ตำบลหนองตางู อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เดิมชื่อ พิมพา สาริกิจ เกิด 22 กรกฎาคม 2452 ตำบลวังเมือง อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี ก่อนย้ายตามบิดา มารดา มาอยู่ที่ บ้านวังกระชอน ตำบลหูกวาง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เมื่ออายุ 20 ได้อุปสมบทที่วัดเขาดินใต้ โดยมีหลวงพ่อเฮง วัดเขาดินใต้ เป็นพระอุปัชฌาย์ ในระหว่างที่บวชเรียนได้ศึกษาวิชากับเป็นเกจิอาจารย์หลายท่านในภูมิภาคนี้ เช่น หลวงพ่อเฮง วัดเขาดินใต้ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ และหลวงพ่อพวงวัดหนองกระโดน นครสวรรค์ ศิษย์ร่วมรุ่นคือ หลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม จังหวัดชัยนาท และยังเรียนกับหลวงพ่อเคลือบ วัดหนองกระดี่ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี หลวงพ่อยี วัดดงตาก้อนทอง จังหวัดพิษณุโลก หลวงพ่อกบ วัดเขาสาริกา จังหวัดลพบุรี หลวงพ่อดี วัดหัวถนนใต้ อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ ศิษย์ร่วมรุ่นของท่านคือ หลวงพ่อฮวด วัดหัวถนนใต้ และหลวงปู่ ยังได้เรียนตำราเมตรามหานิยม ตำรายาสมุนไพรจากคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านวังกระชอนที่ท่านบวชอยู่อีกด้วย หลังจากนั้นท่านได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อศึกษาธรรมและวิปัสสนากำมฐาน ที่วัดมหาธาตุฯและวัดระฆังฯ ในสมัยหลวงปู่นาค และได้เดินทางธุดงค์ ไปหลายแห่งทั่วประเทศเลยไปถึง ประเทศลาวและจีน
    ด้านการพัฒนา
    หลวงปู่พิมพา จำพรรษาวัดแรกคือวัดวังกระชอน อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ต่อมาจำพรรษาที่วัดชายเคือง อำเภอขาณุฯ จังหวัดกำแพงเพชร นายสุข บุญสวัสดิ์ ชาวบ้านหนองตางูเลื่อมใส จึงนิมนต์ให้มาโปรดชาวหนองตางู ท่านจึงมาสร้างวัดหนองตางู ประมาณ ปี ๒๔๘๐ และได้พัฒนาทั้งทางด้านการศาสนาการศึกษาและช่วยเหลือชาวบ้านในด้านต่างๆมากมาย เช่น สร้างโรงเรียน แหล่งน้ำ ได้ก่อสร้างวัด และช่วยหาทุนบำรุงรักษาเพื่อเผยแพร่ศาสนาให้กับญาติโยมที่ห่างไกล นับได้หลายสิบวัด ทั้งในและนอกจังหวัด เลยไปถึงประเทศลาว ท่านเคยนำคณะผ้าป่าและพระประธานขึ้นเรือนำไปถวายวัดฝั่งลาว จำนวนร้อยกว่าองค์ สมเด็จพระสังฆราชของประเทศลาว ยังมาให้การต้อนรับ การก่อสร้างวัดและบำรุงพระศาสนานี้ท่านก็คงเจริญรอยตามหลวงพ่อเดิม
    ด้านวัตถุมงคล
    หลวงปู่พิมพา ได้สร้างไว้หลายรุ่น ล้วนแต่มีประสบการณ์ทั้งสิ้น รุ่นแรกท่านได้สร้างที่วัดระฆังฯเป็นสมเด็จปิดทองโดยนำผงเก่าสมเด็จวัดระฆังผสมด้วย ประมาณปี ๒๔๙๑ แล้วนำมาวัดหนองตางู ประมาณ ๓ กล่องกระดาษใหญ่ บางส่วนท่านบอกฝังไว้ที่วัดระฆังฯ แต่ภายหลังให้ลูกศิษย์ไปดูปรากฏว่าเทคอนกรีตทับหมดแล้ว อีกรุ่นเป็นสมเด็จสนิมบาตรกรุโบสถ์เก่าประมาณ ๓ บาตรพระและยังนำผงสมเด็จวัดระฆังมาด้วยใช้ผสมทำพระของท่านอีกหลายรุ่น รุ่นแรกที่จัดสร้างที่วัดหนองตางู เป็นรูปขาวดำอัดกรอบกระจก ปี ๒๕๐๓ เหรียญรุ่นแรกเหรียญเสมา ปี ๒๕๐๖ จัดทำไม่มาก รูปหล่อรุ่นแรก ปี ๒๕๒๐ สมเด็จเกศาหลังเงารุ่นแรกใช้ผงสมเด็จวัดระฆังฯ ผสมด้วยเกศาท่าน ปี ๒๕๓๔ ตะกรุด มีดหมอ ท่านเคยเล่าให้ฟังว่าเรียนวิชาตะกรุดและมีดหมอ มาจากหลวงพ่อเดิมและหลวงพ่อพวง สิงห์งาแกะจากหลวงพ่อเฮงและหลวงพ่อเดิม เสือจากหลวงพ่อเฮงและหลวงพ่อยี ท่านเคยเล่าให้ฟังว่าปลุกเสกแล้วโยนไปตามกอหญ้าแล้วเอาหมูหรือเนื้อเกี่ยวเบ็ดหย่อนไปถ้าเสือตัวไหนติดมาด้วยจึงจะใช้ได้ถ้ายังไม่ติดก็ปลุกเสกจนติด คนแก่เล่าให้ฟังว่าท่านยังเคยเสกปลัดวิ่งบนน้ำแข่งกับ พระอาจารย์สุพจน์ วัดศรีทรงธรรม วัตถุมงคลของท่านสร้างน้อย ส่วนใหญ่ลูกศิษย์จะเก็บไม่ค่อยนำออกมา เช่นรูปหล่อรุ่นแรกสร้างแค่ ๒๕๒๐ องค์
    วัตถุมงคลหลวงปู่พิมพาที่เคยประสบมามีทั้ง แคล้วคลาด อยู่ยงคงกระพัน เมตรามหานิยม ลูกศิษย์ ท่านที่เป็นที่รู้จักกันดีหลายวงการ นักการเมือง เช่น ท่าน วราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการคลัง พลเอกประมาณ อดิเรกสาร สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการมหาดไทยเคยนำ ฮ.มาลงกราบนมัสการที่วัด และท่าน สวัสดิ์ คำประกอบ บุญชู โรจนเสถียร ดารานักร้อง ยอดรัก สลักใจ สีหนุ่ม เชิญยิ้ม ดอน สอนระเบียบ เคยมาบวชกับท่านและจำพรรษาที่วัดนี้ กรุง ศรีวิไล สรพงษ์ ชาตรี เอ็ดดี่ ผีน่ารัก โก๊ะตี๋ อารามบอย สุรชัย สมบัติเจริญ และนกน้อย อุไรพร วงเสียงอีสาน เป็นต้น
    หลวงปู่พิมพา มรณภาพเมือ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๑ อายุได้ ๙๑ ปี ร่างท่านบรรจุอยู่ในโลงแก้ว สรีระร่างไม่เน่าเปื่อย ที่วัดหนองตางู ถ้าท่านใดผ่านมาแถววัดหนองตางูอย่าลืมแวะมานมัสการท่านได้ ปัจจุบันลูกศิษย์ท่านที่เป็นผู้สืบทอดวิชาอาคม คือ พระครูนิภาธรรมวิสุทธ์ เจ้าอาวาสวัดหนองตางู องค์ปัจจุบัน และพระอาจารย์พนม ฐานิสฺสโร วัดวังปลากราย อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร
    สุดท้ายนี้ขออัญเชิญพรหลวงปู่พิมพา ไม่เจ็บ ไม่จน รวย รวย รวย
    ประวัติ หลวงปู่พิมพา วัดหนองตางู
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...