เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 19 กันยายน 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,309
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,612
    ค่าพลัง:
    +26,464
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_8997.jpeg
      IMG_8997.jpeg
      ขนาดไฟล์:
      259.8 KB
      เปิดดู:
      45
  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,309
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,612
    ค่าพลัง:
    +26,464
    วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ ถึงแม้ว่างานตรวจประเมินเพื่อยกหมู่บ้านศีล ๕ ต้นแบบ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๗ จะเสร็จสิ้นลงแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ประชุมสรุปงานและแนวทางในการแก้ไขการทำงาน แล้วนอกจากนั้นงานเก่าก็ยังมีอีกมากมายที่รออยู่

    โดยเฉพาะช่วงหลายวันที่ผ่านมา ต้องปฏิเสธญาติโยมที่นิมนต์ไปบรรยายอยู่หลายครั้ง กระผม/อาตมภาพบอกแล้วว่าถ้านิมนต์กะทันหันแค่ไม่กี่วัน รับประกันว่าไม่ได้แน่นอน..! แต่เขาก็ยังไม่ค่อยจะฟังกัน เพราะว่าตารางกิจนิมนต์ยาวไปถึงปีหน้าแล้ว นิมนต์ข้ามปียังพอจะมีโอกาสบ้าง ไม่ใช่สองวันสามวันข้างหน้าจะให้ไปบรรยายที่โน่น บรรยายที่นี่ แล้วจึงค่อยมานิมนต์

    ระยะนี้ในเรื่องของพระพุทธศาสนาของเราก็น่าเป็นห่วงมาก เพราะว่าอยู่ ๆ ก็มีพวก "มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ" มาตั้งกระทู้กันในสื่อโซเชียลว่า
    "การที่พระไปช่วยเหลือบุคคลที่โดนน้ำท่วมนั้นเ ป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่ ?" ซึ่งกระผม/อาตมภาพเคยด่ากระจายไปนานแล้ว ดูท่าจะต้องด่าอีกสักรอบหนึ่ง..! ถ้าเห็นว่าพระไม่สมควรที่จะทำอย่างนั้น ไอ้คนที่ตั้งกระทู้ควรที่จะออกไปช่วยชาวบ้านที่เขาเดือดร้อนแทนพระไหม ? หรือว่านั่งดูเฉย ๆ แล้วก็ตั้งกระทู้ไปเรื่อย ?

    ในสังคมยุคปัจจุบันของเรา แม้กระทั่งในวงการพระพุทธศาสนา ก็เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งก็คือ เหมือนไก่ที่โดนจับยัดรวมกันไว้ในเข่งตอนวันตรุษจีน เตรียมเข้าโรงเชือด แทนที่จะรักใคร่สามัคคีกัน กลับเป็นตัวนี้จิกตัวนั้น ตัวนั้นจิกตัวนี้ ถ้าหากว่าคนอื่นทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม เราจะตำหนิติติงนั้นเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่อย่าทำแบบ "ตีหัวเข้าบ้าน" ก็คือติเขาแล้ว ช่วยบอกด้วยว่าจะแก้ไขให้ดีขึ้นได้อย่างไร ? ไม่ใช่ไปด่าปาว ๆ อย่างเดียว

    ในปัจจุบันนี้เราจะเห็นว่านักปฏิบัติธรรมที่อวดอ้างว่าเป็นผู้รู้นั้นมีมาก บางรายก็ถึงขนาดจะแก้ไขพระไตรปิฎก จะยกเลิกสิกขาบท คือศีลพระที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตั้งเอาไว้ดีแล้ว โดยที่ลืมไปว่าครูบาอาจารย์ตั้งแต่โบราณของเรามา ยึดถือและปฏิบัติตามตามพระไตรปิฎก แล้วก็บรรลุมรรคผลไปไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไร แล้วท่านเป็นใคร ? มาจากไหน ? ถึงได้บอกว่าพระไตรปิฎกเชื่อถือทั้งหมดไม่ได้..!

    หรือไม่ก็พระอรหันต์ ๕๐๐ รูปมีมติร่วมกันว่าศีลเล็กน้อยนั้นไม่มี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาตให้ยกเลิกสิกขาบทเล็กน้อยได้ แต่ในความละเอียดของพระอริยเจ้าท่าน คำว่าเล็กน้อยไม่มี ทุกอย่างล้วนแล้วแต่สำคัญทั้งหมด จึงมีมติให้คงเอาไว้ซึ่งพระธรรมวินัยและศีลพระดังเดิม ก็ยังจะมีผู้ที่อวดอ้างว่าตนเองรู้ พยายามที่จะให้ยกเลิกบ้าง ตำหนิติเตียนว่าสิกขาบทนั้นไม่เหมาะสมกับยุคสมัยบ้าง
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,309
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,612
    ค่าพลัง:
    +26,464
    เราท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะพระภิกษุสามเณรจะเห็นว่า ถ้าเราไม่มีศีลเป็นกรอบ ป่านนี้พระพุทธศาสนาของเราก็คงจะเละเทะหมดสภาพไปนานแล้ว ขนาดมีศีลเป็นกรอบก็ยังมีบุคคลที่ตั้งใจจะฝ่าฝืนกันจนเป็นปกติ ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าหากว่ากรอบลดน้อยลง หรือว่าผ่อนคลายมากขึ้น ก็จะเจอประเภท "ได้คืบจะเอาศอก" ขอยกเลิกสิกขาบทไปเรื่อย ๆ ท้ายที่สุดก็ไม่ต้องมีศีลมากแบบปัจจุบันนี้

    อย่าลืมว่าพระภิกษุสามเณรของเรานั้น เป็นที่เคารพของญาติโยมได้ก็เพราะว่ามีศีลมากกว่า มีความต่างในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าทุกอย่างเหมือนกันแล้ว ฆราวาสที่ไหนเขาจะมาเคารพนับถือ ? ดังนั้น..ในการที่พระภิกษุสามเณรของเราจะมีความต่าง จะมีสิ่งที่ให้ชาวบ้านเขาเคารพนับถือ อันดับแรกเลยก็คือศีล หลังจากนั้นก็เป็นสมาธิและปัญญา ไม่ใช่อยู่ ๆ ก็ใช้อัตโนมติ คือความเห็นของตนเอง ว่าเป็นพระวัดป่าไม่ต้องเสียเวลามาสวดมนต์ไหว้พระ ไม่เห็นความสำคัญในการใช้อามิสบูชาต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องของบุคคลที่ไม่ประมาท พยายามจะสร้างสมบุญทุกประเภทให้กับตนเอง แต่ก็ไปเจอบุคคลที่ไม่เพียงแต่ประมาท แถมยังโง่เขลาเบาปัญญาอีกต่างหาก มองไม่เห็นวิธีการปฏิบัติธรรมแบบง่าย ๆ แต่ได้ผลใหญ่ที่คนโบราณเขาสั่งสอนต่อกันมา ไม่ว่าจะเป็นการถวายข้าวพระ เป็นการถวายน้ำ เป็นการสวดมนต์ไหว้พระ แล้วก็ไปกล่าวตำหนิบุคคลที่เขาทำ เหมือนอย่างกับว่าตนเองเท่านั้นที่ทำดีทำถูก

    ส่วนบุคคลที่เห็นว่าเขาทำผิด พูดผิด สอนผิด แทนที่จะกล่าวแนะนำด้วยความเมตตา หรือว่ากล่าวแนะนำโดยธรรม ก็กลายเป็นว่าส่วนใหญ่แล้วไปโจมตีคนอื่นเพื่อยกตนเองให้เด่นขึ้นมา สังคมของเราทั้งทางโลกและทางธรรมจึงได้วุ่นวายไปหมดอย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้

    ทำอย่างไรที่เราจะมองเห็นคุณงามความดีของผู้อื่น แล้วอนุโมทนายินดีในความดีนั้น ไม่ใช่เขาไปช่วยคนน้ำท่วมก็ไป "ด้อยค่า" ไม่ใช่เขาทำอาหารไปให้ก็บอกว่ารสชาติไม่ได้เรื่อง ไม่ใช่ว่าเขาสอนธรรมผิด ๆ เราก็ไปโจมตีเขาอยู่ฝ่ายเดียว โดยที่ไม่ได้บอกว่าที่ถูกนั้นเป็นอย่างไร จึงเป็นเรื่องที่ภายในสังคมของเราต้องรู้ระมัดระวังและแก้ไข
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,309
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,612
    ค่าพลัง:
    +26,464
    วิธีที่สำคัญที่สุดก็คือ อัตตนา โจทยัตตานัง ไม่จับผิดคนอื่น แต่ให้ดูความผิดพลาดของตนเองแล้วแก้ไข ถ้าต่างคนต่างดูที่ตัว แก้ที่ตัว กาย วาจา ใจ ของแต่ละคนก็จะดีขึ้น ความสุขสงบในสังคมจะมีมากขึ้น โลกก็จะเร่าร้อนน้อยลง

    ไม่ใช่ว่าเขายังไม่ทันจะทำอะไร เราก็ไปเที่ยวตำหนิ ไปโยงเอาความผิดพลาดเก่า ๆ ที่ทางครอบครัวหรือทางพรรคการเมืองเคยทำเอาไว้ แล้วก็มา "ตราหน้าค่าชื่อ" กับบุคคลที่อยู่ในปัจจุบัน เรื่องพวกนั้นเขามีวิถีทางตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ถ้ารู้จักหุบปากเสียบ้าง ประเทศของเราจะอยู่สุขสงบกว่านี้เยอะ บรรดานักการเมืองก็จะมีเวลาไปช่วยเหลือเรื่องปากท้องประชาชนมากกว่านี้ ไม่ใช่มัวแต่แก้ข้อกล่าวหาของคนอื่นอยู่

    เราท่านทั้งหลายที่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมจึงต้องตระหนักว่า การทำ กาย วาจา ใจ ของเราให้ดีขึ้น ให้เจริญขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด อะไรที่ทำให้จิตของเราเศร้าหมอง อย่าได้รับเข้ามา ไม่อย่างนั้นแล้วเราเองก็เท่ากับว่าไม่ได้ปฏิบัติธรรม

    องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ได้สอนอะไรมาก สอนให้ดูว่า ใจของเรามีความชั่วอยู่หรือไม่ ? ถ้ามีก็ให้ขับไล่ออกไป แล้วระมัดระวังไว้อย่าให้ความชั่วนั้นเข้ามาอีก ใจของเรามีความดีอยู่หรือไม่ ? ถ้ายังไม่มีก็สร้างความดีนั้นให้เกิดขึ้นมา ถ้ามีแล้วก็ทำให้ความดีนั้นเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป

    หน้าที่ของพุทธศาสนิกชนจะว่าไปแล้วมีอยู่แค่นี้เท่านั้นเอง แล้วการที่เราขัดเกลาตนเอง ดูที่ตนเอง แก้ที่ตนเอง ถ้าทุกคนสามารถขัดเกลาจน กาย วาจา ใจ ของตนเจริญขึ้นมาได้ สังคมรอบข้างก็จะดีงามไปเองโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้น..ต้องตระหนักว่าชีวิตของเรามีน้อย เหมือนอย่างกับไก่ที่จะโดนเชือด จึงไม่ใช่เรื่องที่จะไปจิกกัน ไม่ใช่เรื่องที่จะไปแซะกัน แต่เป็นเรื่องที่ต่างคนต่างต้องเร่งทำ กาย วาจา ใจ ของตนให้ดีที่สุด ถึงเวลาถ้าปุบปับตายไป อย่างน้อยจะได้มีสุคติเป็นที่ไป

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...