ความรู้เรื่องศีล

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย มาจากดิน, 1 มีนาคม 2015.

  1. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    YKW มาไม่มา ลงอุโบสถศีลต่ออีก

    ประเภทแห่งอุโบสถศีลตามลักษณะที่ประพฤติสมาทาน


    ในการสมาทานรักษาอุโบสถศีลนั้น อัธยาศัย (ลักษณะนิสัยใจคอ ความชอบ) ของผู้สมาทาน ย่อมแตกต่างกันไป ซึ่งทำให้ได้รับผลไม่เหมือนกัน ดังนั้น อุโบสถศีล เมื่อแบ่งตามลักษณะอัธยาศัยที่ประพฤติสมาทานของบุคคลที่ดี เลว ประณีต ต่างกัน จึงแบ่งเป็น ๓ ลักษณะ ดังนี้

    ๑) โคปาลกอุโบสถ อุโบสถที่รักษามีอาการเหมือนอย่างคนรับจ้างเลี้ยงโค หมายถึง อุโบสถศีลที่อุบาสกอุบาสิการสมาทานแล้วกลับไม่ประพฤติจริงจัง รักษาแบบเหยาะแหยะ ย่อหย่อน ไม่เคร่งครัดจริงจัง โดยสักแต่ว่าสมาทาน และทนคอบระวังรักษาไม่ให้ขาดเพียงให้พ้นกำหนดวันรักษา คือ วันหนึ่ง กับ คืนหนึ่งเท่านั้น เมื่อสมาทานแล้ว ก็นั่งคิดโน่นคิดนี่ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ที่ปรารถนา หรือไม่ก็จับกลุ่มพูดคุยแต่ถ้อยคำที่ขัดขวางต่อการบรรลุกุศลธรรมต่างๆ เช่น วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองตามกระแสข่าว หรือพูดถึงดาราคนโน้นเป็นแฟนกับคนนี้ ละครเรื่องนั้นดีกว่าเรื่องนี้ไปตามสมัยนิยม โดยไม่สนใจปฏิบัติตนเพื่อให้จิตสงบ ซึ่งจะได้พบความสุขที่เยือกเย็นอันเป็นความม่งหมาย แห่งการรักษาศีลเพื่อเป็นบาทฐานให้จิตเป็นสมาธิ หรือไม่ก็ละเลยการฟังธรรม ไม่มีการไหว้พระสวดมนต์ และไม่มีการเจริญจิตตภาวนา เพราะมัวแต่จับคู่เข้ากลุ่มสนทนากันในเรื่องสัพเพเหระที่ไร้สาระต่างๆ เช่น เรื่องความสนุกสนานเบิกบานบันเทิงเริงรมย์ เรื่องการติฉินนินทาผู้อื่น เป็นต้น เมื่อหมดเวลารักษา ก็กลับบ้านพร้อมทั้งหวังให้คนรู้เห๖และยกย่องว่า เป็นคนเข้าวัดจำศีล เป็นคนเคร่งครัดศาสนา หรือเป็นคนมีศีลธรรม การรักษาอุโบสถศีลของคนบางคนที่มีใจประกอบไปด้วยความอยาก ใช้วันเวลาให้หมดไปกับความอยากเช่นนี้ ท่านเรียกว่า โคปาลกอุโบสถ เพราะเหมือนคนรับจ้างเลี้ยงโคที่ต้องการค่าจ้างไปวันๆเท่านั้น


    การรักษาอุโบสถศีลเช่นนี้ ไม่มีผลมาก ดังเรื่องเล่าของ คนถือศีลไปเป็นเปรต แต่คนตกเบ็ดได้ขึ้นสวรรค์ ความว่า ในวันอุโบสถวันหนึ่ง มีคนกลุ่มหนึ่งไปถืออุโบสถศีลอยู่บนศาลาวัด ในขณะที่ชายคนหึ่งไปนั่งตกปลา อยู่ที่ฝั่งคลองตรงข้ามกับศาลาวัด วันนั้น ปลากินเบ็ดดี คนตกเบ็ดจึงได้ปลาจำนวนมาก คนถือศีลอยู่บนศาลาวัดมองไปที่คนตกปลา ก็เกิดความโลภอยากได้ปลาบ้าง นึกว่าทำไมวันนี้ ต้องเป็นวันอุโบสถ ถ้าไม่เช่นนั้น คงได้ปลามาทำอาหารกินกับเขาบ้าง จิตใจคิดถึงแต่ปลา ไม่เป็นอันคิดถึงศีลหรือการปฏิบัติธรรมเลย ฝ่ายคนตกปลา มองไปบนศาลาวัด เห็นคนนุ่งขาวห่มขาวถือศีลกัน แต่ตัวเองต้องมานั่งตกปลา ไม่รู้จักว่าวันนี้เป็นวันพระ เกิดหิริโอตตัปปะ กลับถึงบ้าน หยุดการทำบาปเกิดสัมปัตตวิรัติ (จิตคิดงดเว้นบาป) ขึ้นมาทันที อยากหยุดทำชั่ว แล้วเกิดความสบายใจ ส่วนคนถือศีลกลับบ้าน ร้อนรนไปด้วยความโลภ เร่งวันเร่งเวลาให้หมดไป จิตใจจึงมีแต่ความทุกข์ คนขึ้นสวรรค์ คือคนที่ใจมีความสุข คนตกนรกคือคนที่ใจมีแต่ความทุกข์ ดังคำพูดที่ว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ใจ การปฏิบัติธรรมรักษาอุโบสถศีลอย่างนี้ ย่อมไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะจิตใจของผู้รักษาไม่ได้เข้าถึงหลักธรรมที่แท้จริงเลย

    ๒) นิคัณฐอุโบสถ อุโบสถที่รักษาเหมือนกับอุโบสถของพวกนิครนถ์ หมายถึง อุโบสถที่รักษาตามใจชอบของตน โดยตั้งเจตนางดเว้นแบบมีขอบเขตจำกัด คือมีลักษณะเป็นเหมือนอุโบสถของพวกนิครนถ์ (นักบวชภายนอกพระพุทธศาสนาลัทธิหนึ่ง ซึ่งชอบนุ่งลมห่มฟ้าเป็นชีเปลือย ปัจจุบันคือพวกนักบวชในศาสนาเชน) กล่าวคือ พอถึงวัน อุโบสถ หัวนิครนถ์จะเรียกสานุศิษย์มาสอนว่า “จงอย่าเบียดเบียนหมู่สัตว์ที่อยู่ทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ และทางทิศใต้ เลยร้อยกิโลเมตรไป” ซึ่งคำสอนเช่นนี้เป็นการเอ็นดูอนุเคราะห์จำกัดสัตว์บางเหล่า เป็นการตั้งเจตนางดเว้นไม่ตลอดทั่วไป ซึ่งไม่เหมือนกับเจตนางดเว้นการฆ่าสัตว์ทุกชนิดอันเป็นศีลข้อที่ ๑ แห่งเบญจศีลในพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ หัวหน้านิครนถ์ก็ยังชักชวนพวกสานุศิษย์ในวันอุโบสถว่า “จงเปลื้องผ้าออกให้หมดแล้วประกาศตนว่า ข้าพเจ้าไม่เกี่ยวข้องกับใครๆ ในที่ไหน และจะไม่มีความกังวลในสิ่งอะไรๆ และในที่ไหนๆ”อีกด้วย แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะเขายังรู้จักญาติสนิทมิตรสหายเพื่อนพ้องน้องพี่ของตน และญาติสนิทมิตรสหายเพื่อนพ้องน้องพี่เหล่านั้น ก็ยังรู้จักเขา และเขายังต้องรับอาหารจากคนอื่นอยู่ ดังนั้น สิ่งที่นิครนถ์สอนนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ


    คนรักษาอุโบสถบางคนก็เช่นเดียวกัน หลงอาจารย์ หลงสำนักที่สอนผิดๆ ทิ้งมารดาบิดาจนขาดความกตัญญูกตเวที และทิ้งบุตรธิดาจนไม่ทำหน้าที่ของบุพการี ทำให้เกิดปัญหากับครอบครัว การถือศีลหรือการปฏิบัติธรรมอย่างนี้ ย่อมไม่เกิดผลดี แต่อย่างใด เพราะเป็นความประพฤติที่ทำลายระบบศีลธรรมอันดีนั่นเอง

    ๓) อริยอุโบสถ อุโบสถที่รักษาตามแบบอย่างที่พระอริยรักษา หมายถึง หมายถึง อุโบสถศีลที่พวกอุบาสกอุบสิการักษาอย่างประเสริฐพิเศษด้วยข้อปฏิบัติ กล่าวคือ เมื่อสมาทานรักษาองค์อุโบสถแล้ว ก็ตั้งใจประกอบกุศลกรรมเพื่อชำระจิตใจของตนให้สะอาดปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองจิต มีกามฉันทะ (ความยินดีพอใจในกาม) เป็นต้น ด้วยการเจริญสมถกัมมัฏฐานที่ถูกกับจริต และอุปนิสัยของตน

    อริยอุโบสถศีลนี้ เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงประสงค์ให้อุบาสกอุบาสิการักษาปฏิบัติในที่นี้ เพราะเป็น อุโบสถที่มีผลานิสงส์มาก ดังที่พระองค์ตรัสสรรเสริญไว้กะนางวิสาขา มหาอุบสิกา ซึ่งปรากฏอยู่ในอุโปสถสูตร (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐) ว่า “วิสาขา อริยอุโบสถที่บุคคลเข้าจำแล้ว อย่างนี้แล ย่อมมีมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายไปมา”
     
  2. ฟางว่าน

    ฟางว่าน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 มีนาคม 2010
    โพสต์:
    1,080
    ค่าพลัง:
    +969
    ผมกินเหล้าปีละ 2-3 ครั้ง
     
  3. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    องค์ธรรมของอุโบสถศีล

    องค์ธรรม ในที่นี้หมายถึงสิกขาบทหนึ่งๆ ซึ่งเป็นข้อกำหนดให้สมาทานศึกษาฝึกฝนปฏิบัติรักษาด้วยเจตนาละเว้นจากข้อห้ามนั้นๆ กล่าวสำหรับอุโบสถศีลประกอบด้วยองค์ธรรม ๘ สิกขาบท ซึ่งเรียกว่า อัฏฐังคิกอุโบสถ จำแนกตามคำสมาทานภาษาบาลีพร้อมคำแปล ดังนี้

    ๑) ปาณาติปาตา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
    ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการผลาญชีวิตสัตว์ให้ตกตายไป

    ๒) อทินฺนาทานา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
    ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้

    ๓) อพฺรหฺมจริยา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
    ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดทางพรหมจรรย์

    ๔) มุสาวาทา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
    ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ

    ๕) สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
    ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการดื่มสุราและเมรัย อันเป็นเหตุที่ตั้งแห่งความประมาท

    ๖) วิกาลโภชนา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
    ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล

    ๗) นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
    ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมเครื่องดนตรีต่างๆ และดูการละเล่นอันเป็นข้อศึกแก่กุศล ตลอดถึงการสูบทา ทัดทรง ประดับตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้และของหอมเครื่องบำรุงผิวอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

    ๘) อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
    ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการนั่งนอนที่นอนอันสูงใหญ่

    องค์ธรรมของอุโบสถศีลทั้ง ๘ สิกขาบท เมื่อกล่าวโดยใจความภาษาไทยตามที่ท่านพระโบราณาจารย์ไดให้ความหมายไว้ มีดังนี้

    ๑) ไม่ฆ่าสัตว์มีชีวิตและไม่ใช้ให้คนอื่นฆ่า
    ๒) ไม่ลักเอง และไม่ใช้ให้ผู้อื่นลักสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
    ๓) ไม่เสพเมถุน (ไม่ร่วมประเวณี ไม่ร่วมเพศกับใครๆ โดยทางทวารใดๆ)
    ๔) ไม่พูดปด (ไม่เป็นพยานเท็จ)
    ๕) ไม่ดื่มสุราเมรัย อันเป็นเหตุที่ตั้งแห่งความประมาท
    ๖) ไม่กินอาหารในเวลาบ่าย และกลางคืน (ไม่กินอาหารหลังเที่ยงวัน)
    ๗) ไม่แสดงการรื่นเริงและแต่งตัว (ไม่สนใจสิ่งบันเทิงเริงโลกีย์)
    ๘) ไม่นอนบนที่นอนสูงและที่นอนใหญ่


    อุโบสถศีล ๘ สิกขาบทนี้ ถ้าทำพร้อมด้วยเจตนา จึงจะขาดจากองค์ศีล ถ้าไม่พร้อมด้วยเจตนา ก็ไม่ขาด การที่ศีลอุโบสถแต่ละสิกขาบทจะขาดนั้น ท่านกำหนดเจตนาในการล่วงละเมิดไว้สองทาง คือ ทางกาย และทางวาจา ในสิกขาบทที่ ๓ และ ที่ ๒ จะทำเองก็ตาม จะใช้ให้เขาทำก็ตาม ย่อมขาดจากองค์ศีลทั้งนั้น ตั้งแต่สิกขาบทที่ ๓ ไปจนถึงสิกขาบทที่ ๘ ทำเองจึงจะขาดจากองค์ศีล ถ้าใช้ให้คนอื่นทำ ไม่ขาด

    อุบาสกอุบาสิกา ผู้มีความสำรวมระวังไม่ล่วงองค์อุโบสถ ๘ สิกขาบท เรียกว่า ผู้มีศีล หรือผู้รักษาอุโบสถศีล ซึ่งเป็นเครื่องทำกายกับวาจาให้บริสุทธิ์ เป็นอุบายที่จะกำจัดกิเลสส่วนหยาบที่แสดงออกทางกาย และวาจาที่เรียกว่า วิตีกกมกิเลส
     
  4. มาจากดิน

    มาจากดิน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2008
    โพสต์:
    5,913
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +2,493
    ขอบข่ายการล่วงละเมิดองค์อุโบสถศีล

    ในอุโบสถศีล ๘ สิกขาบท หรือศีล ๘ ข้อนี้ สิกขาบทที่ ๑,ที่ ๒, ที่๔ และที่ ๕ มีคำอธิบายขอบข่ายการล่วงละเมิดองค์ศีลข้อห้ามเหมือนในศีล ๕ ดังกล่าวแล้ว ในที่นี้จะอธิบายเฉพาะข้อที่ ๓, ที่ ๖, ที่ ๗ และที่ ๘ โดยลำดับ ดังนี้

    สิกขาบทที่ ๓ อพฺรหฺมจริยา เวรมณี เว้นการเสพกาม

    สิกขาบทบทนี้ แปลโดยพยัญชนะว่า เจตนางดเว้นจากอสัทธรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ หมายถึง การห้ามประพฤติผิดพรหมจรรย์ พึงเข้าใจความหมายของคำว่า พรหมจรรย์ ก่อน คำว่า พรหมจรรย์ แปลว่า ความประพฤติประเสริฐ การดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ ในที่นี้ หมายถึง เมถุนวิรัติ การงดเว้นจากการเสพเมถุนธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในความหมายของพรหมจรรย์ ๑๐ ประการ แต่คำว่า เมถุนธรรม ก็เป็นภาษาพระ คือเป็นคำบัญญัติใช้แก่ภิกษุ ผู้ล่วงละเมิดศีลโดยการร่วมประเวณี แปลว่า ธรรมชาติของคนคู่ที่มีความกำหนัดยินดีฉ่ำชุ่มด้วยราคะต่อกัน หรือธรรมชาติที่คนเป็นคู่ๆ พึงเข้าถึงร่วมกัน มีคำที่ใช้แทนคือคำว่า อสัทธรรม และคำว่า อพรหมจรรย์ เมื่อกล่าวชี้ชัดในที่นี้ ทั้งคำว่า เสพเมถุนธรรม เสพอสัทธรรม ประพฤติอพรหมจรรย์ และคำว่า ประพฤติผิดจากพรหมจรรย์ ล้วนแต่มีความหมายถึงกิริยาที่เสพกาม กิริยาร่วมประเวณี กิริยามีเพศสัมพันธ์ หรือกิริยาที่ร่วมเพศสัมพันธ์สวาสกันระหว่างชาย-หญิง ที่มีความกำหนัดยินดีทางกายสัมผัสต่อกัน ดังนั้น ข้อห้ามในสิกขาบทนี้ คือ การงดเว้นมีเพศสัมพันธ์ในช่วงระยะที่รักษาอุโบสถศีล เป็นความประพฤติที่สูงกว่าศีลข้อที่ ๓ ในเบญจศีล ซึ่งให้เสพกามหรือมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครองของตนได้ โดยที่ศีลไม่ขาด แต่ศีลข้อที่ ๓ แห่งอุโบสถศีลนี้ ห้ามมีเพศสัมพันธ์กับใครๆทั้งนั้น

    ศีลข้อนี้จะขาดหรือไม่ มีหลักวินิจฉัยที่เรียกว่า องค์ หรือขอบข่ายการล่วงละเมิด ๕ ข้อ คือ

    ๑) อัชฌาจรณียวัตถุ วัตถุที่พึงประพฤติล่วง
    ๒) ตัตถะ เสวนจิตตัง จิตคิดจะเสพในวัตถุนั้น
    ๓) เสวนัปปโยโค ทำความพยายามในการเสพ
    ๔) สาทิยนัง มีความหนัดยินดี
    ๕) มัคเคนะ มัคคัปปฏิปาทนัง ยังมรรคกับมรรคให้จรดถึงกัน

    คำว่า วัตถุที่พึงประพฤติล่วง ในที่นี้หมายถึงมรรค คือ ช่องทางในการเสพหรือการร่วมเพศ ซึ่งมี ๓ มรรค คือ ปัสสาวมรรค ทวารเบา วัจมรรค ทวารหนัก และมุขมรรค ช่องปาก หรือได้แก่มีบุคคลผู้ที่ตนจะมีสัมพันธ์ทางเพศด้วยปรากฏอยู่
    คำว่า ยังมรรคกับมรรคให้จรดถึงกัน หมายถึงการนำอวัยวะเพศของคนทั้งสองฝ่ายเนื่องถึงกันทางมรรคใดมรรคหนึ่งดังกล่าวนั้น

    อุโบสถศีลจะขาดต่อเมื่อมีการกระทำครบองค์ทั้ง ๕ ดังกล่าวนั้น โดยมีชายหรือหญิงผู้ที่ตนจะมีสัมพันธ์ทางเพศด้วย ตนมีจิตกำหนัดรักใคร่คิดจะเสพกาม จึงทำความพยายามเสพกาม และเสพกามสำเร็จโดยได้กำหนดเอาอาการที่มรรคต่อมรรค คือ อวัยวะเพศของทั้งสองฝ่ายนั้นเนื่องถึงกัน พร้อมทั้งมีความยินดีในขณะเสพ จะสำเร็จความใคร่หรือไม่ก็ตาม เป็นอันล่วงศีลข้อนี้

    สิกขาบทที่ ๖ : วิกาลโภชนา เวรมณี เว้นการบริโภคในเวลาวิกาล

    ก่อนที่จะทราบความหมายของศีลข้อนี้ เบื้องต้น พึงทราบ กาล หรือเวลา ที่เนื่องด้วยการบริโภคอาหาร ดังนี้ ตั้งแต่อรุณขึ้นมาแล้วจนถึงเที่ยง เรียกว่า กาล เป็นระยะเวลาบริโภคครั้งเดียว เรียกอีกอย่างว่า ปุเรภัตตกาล คือเวลาก่อนภัต ตั้งแต่เที่ยงวันไปจนถึงก่อนอรุณขึ้น เรียกว่า วิกาล เป็นระยะเวลางดเว้นการบริโภคอาหารของพระอริยบุคคล เรียกอีกอย่างว่า ปัจฉาภัตตกาล คือ เวลาภายหลังภัต
    ศีลข้อนี้ มีความหมายเฉพาะการห้ามรับประทานอาหารในเวลาวิกาล คือ ตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนถึงก่อนอรุณขึ้น โดยมีหลักวินิจฉัยที่เรียกว่า องค์ ๔ ข้อ คือ

    ๑) วิกาโล เวลาตั้งแต่เที่ยงแล้วไปถึงก่อนอรุณขึ้น
    ๒) ยาวกาลิกกัง ของเคี้ยวของกินที่เป็นอาหาร
    ๓) อัชโฌหรณัปปโยโค พยายามกลืนกิน
    ๔) เตนะ อัชโฌหรณัง กลืนล่วงลำคอเข้าไปด้วยความพยายามนั้น

    ศีลข้อนี้ จะขาดต่อเมื่อมีการกระทำครบองค์ดังกล่าวนี้

    สิกขาบทที่ ๗: ....เวรมณี เว้นการฟ้อนรำขับร้อง

    ศีลข้อนี้ มีความมุ่งหมายให้งดเว้นการสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงทุกชนิด ทั้งการแสดงเอง และการดูผู้อื่นแสดง เหตุที่ห้ามเพราะเป็นข้าศึกต่อกุศล คือ ขัดแย้งต่อหลักคำสอนที่มุ่งให้ใช้เวลาพัฒนาตนเพื่อให้เกิดความสงบแห่งจิตและมีปัญญารู้เท่าทันกิเลส รวมถึงการห้ามประดับตกแต่งอวัยวะร่างกายของตนให้สดใสสวยงามเพื่อมุ่งประโยชน์ทางกามารมณ์ แต่ถ้าประดับตกแต่งร่างกายเพื่อมุ่งประโยชน์ในการรักษาความสะอาดตามความนิยมของสังคมมนุษย์หรือเพื่อบรรเทาป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ เช่น โรคผิวหนังผื่นคันต่างๆ อันเกิดมีขึ้นเป็นธรรมดา ก็สามารถทำได้

    สำหรับหลักวินิจฉัยว่าศีลข้อนี้จะขาดหรือไม่ ท่านแบ่งออกเป็น ๒ ตอน คือ ตอนที่ ๑ ซึ่งเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมเครื่องดนตรีต่างๆ และดูการเล่น ที่เป็นข้าศึกแก่กุศลนั้น มีองค์ ๓ ข้อ คือ

    ๑) นัจจาทีนิ การเล่นมีฟ้อนรำเป็นต้น
    ๒) ทัสสนัตถายะ คมนัง ไปเพื่อจะดูหรือฟัง
    ๓) ทัสสนัง ดูหรือฟัง

    และตอนที่ ๒ ซึ่งเว้นจากการทัดทรงประดับเป็นต้นนั้น ก็มีองค์ ๓ ข้อ คือ

    ๑) มาลาทีนัง อัญญตรตา เครื่องประดับตกแต่งมีดอกไม้และของหอม เป็นต้น
    ๒) อนุญญาตการณาภาโว ไม่มีเหตุเจ็บไข้ เป็นต้น ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต
    ๓) อลังกตภาโว ทัดทรงตกแต่งเป็นต้นด้วยจิตคิดประดับให้สวยงาม

    สิกขาบทที่ ๘ : อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี เว้นใช้ที่นั่งที่นอนสูงใหญ่

    ศีลข้อนี้ มีความมุ่งหมายให้งดเว้นการใช้ที่นั่งที่นอนเกินขนดากำหนด รวมถึงการห้ามใช้เครื่องปูลาดและสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่ไม่สมควร กล่าวคือ หรูหราเกินไป ทั้งนี้ เพื่อมุ่งประสงค์ไม่ให้เป็นของโอ่โถง และเกิดภาวะสุขสบายอันยั่วยวนชวนให้เกิดกิเลสมีกามราคะ ความกำหนัดยินดีทางกามารมณ์ เป็นต้น

    ศีลข้อนี้ จะขาดหรือไม่ มีหลักวินิจฉัยที่เรียกว่า องค์ ๓ ข้อ คือ

    ๑) อุจจาสยนมหาสยนัง ที่นั่งที่นอนสูงใหญ่
    ๒) อุจจาสยนมหาสยนสัญญิตา รู้ว่าที่นั่งที่นอนสูงใหญ่
    ๓) อภินิสิทนัง วา อภินิปัชชนัง วา นั่งหรือนอนลง
     

แชร์หน้านี้

Loading...